เช็คสุขภาพ : ที่นี่ ... มีคำตอบให้ทุกคำถามเกี่ยวกับสุขภาพของท่าน
หน้าแรก / กิจกรรม / WHO จับมือ สสส. ขยายความร่วมมือด้านสุขภาพ เน้นลดปัจจัยเสี่ยงกลุ่ม NCDs
WHO จับมือ สสส. ขยายความร่วมมือด้านสุขภาพ เน้นลดปัจจัยเสี่ยงกลุ่ม NCDs

เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2561 ในเวทีสมัชชาอนามัยโลก ครั้งที่ 71 นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ดร.เท็ดรอส อัดฮานอม กีบรีเยซุส (Dr.Tedros Adhanom Ghebreyesus) ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก พร้อมด้วย นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะรองประธานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ คนที่ 1 ร่วมลงนามขยายระยะเวลาความร่วมมือว่าด้วยการสร้างเสริมสุขภาพ ปี 2561-2563 ระหว่างองค์การอนามัยโลก และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ประเทศไทย

โดย ดร.เท็ดรอส ได้แสดงความชื่นชมความร่วมมือระหว่างองค์การอนามัยโลก และ สสส.ประเทศไทยครั้งนี้ และเห็นประโยชน์ต่อการสร้างเครือข่ายสุขภาพทั้งในระดับประเทศ ภูมิภาค และระดับโลก ทั้งนี้ การสร้างความร่วมมือผ่านองค์การอนามัยโลก ทำให้ไทยสามารถสนับสนุน ถ่ายทอดความรู้สู่การปฏิบัติแก่นานาประเทศในโลก เช่น ประเด็นกิจกรรมทางกายที่ไทยมีการดำเนินการอย่างเข้มแข็ง และหนุนให้เป็นวาระสำคัญในระดับนานาชาติ จนเกิดแผนปฏิบัติการโลกว่าด้วยการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย ปี 2561-2573 ได้สำเร็จ

นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า ข้อตกลงความร่วมมือนี้เป็นอีกตัวอย่างที่ดีว่าประเทศกำลังพัฒนาอย่างประเทศไทย มีศักยภาพสามารถมีบทบาทในการสนับสนุนวาระนโยบายสุขภาพโลกได้ในระดับสูงสุด โดยไทยได้ขับเคลื่อนงานภายใต้แผนยุทธศาสตร์ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและองค์การอนามัยโลกหรือ WHO-CCS โดยความร่วมมือในรูปแบบนวัตกรรมเช่นนี้ มุ่งเน้นการระดมทุนทางสังคม ทุนทางปัญญา นอกเหนือจากทุนทางการเงินจากองค์การอนามัยโลก ซึ่งการขับเคลื่อนสำคัญนี้ จำเป็นต้องใช้บทเรียนการทำงานที่ผ่านมา ของ สสส. และองค์การอนามัยโลก เพื่อต่อยอดไปสู่ความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า การลงนามบันทึกความร่วมมือระหว่าง สสส. และองค์การอนามัยโลก เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2553 และ 2558 ซึ่งได้ขยายเวลาความร่วมมือเพิ่มขึ้นในปีนี้ โดยความร่วมมือในครั้งล่าสุดนี้ มุ่งเน้นการขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาพใน 6 ประเด็นหลักของวาระนโยบายสุขภาพโลก เพื่อช่วยให้ประเทศไทยและประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ สามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals) และการลดปัจจัยเสี่ยงของโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่เป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญ

โดยเชื่อว่าความร่วมมือดังกล่าวจะก่อให้เกิดประโยชน์หลายประการ อาทิ เกิดฐานข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานส่งเสริมสุขภาพ รายงานวิชาการ ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย เครื่องมือและแนวทางปฏิบัติ และที่สำคัญคือเกิดเครือข่ายการทำงานที่เข้มแข็งทั้งในและต่างประเทศ

ดร.สุปรีดา กล่าวว่า สำหรับเป้าหมายสำคัญ 6 ประเด็นในความร่วมมือครั้งนี้ คือ

1.สร้างความเข้มแข็งให้กับเครือข่ายและเสริมศักยภาพในการพัฒนานโยบายแอลกอฮอล์ในประเทศกำลังพัฒนา

2.การส่งเสริมกิจกรรมทางกาย เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายลดพฤติกรรมเนือยนิ่งลงให้ได้ร้อยละ 10 ภายในปี 2568

3.การสร้างเสริมสุขภาพเด็กและเยาวชนในสถานศึกษา ทั้งการสร้างกิจกรรมทางกาย และสร้างทักษะด้านสุขภาวะ

4.สร้างเครือข่ายส่งเสริมศักยภาพลดการบริโภคอาหารรสเค็มในระดับภูมิภาค เพื่อลดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง

5.ส่งเสริมให้เกิดระบบการเฝ้าระวังเพื่อป้องกันโรคไม่ติดต่อ เพื่อควบคุมและส่งเสริมสุขภาพในภูมิภาคอาเซียนใน 6 ประเทศคือ กัมพูชา ลาว มาเลเซีย เมียนมาร์ เวียดนาม ไทย

และ 6.สร้างความเข้มแข็งระบบบริการปฐมภูมิในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ทั้งนี้ ความร่วมมือครั้งนี้ จะสร้างความสัมพันธ์ส่งเสริมพันธกิจเพื่อสร้างสุขภาวะที่ยั่งยืนต่อประชากรไทยและประชากรในประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคอื่นทั่วโลก

25/05/2018
CHECKSUKKAPHAP.COM
เลขที่ 598 ชั้น 6 ถนนเพลินจิต ลุมพินี ปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330
095-515-9229
ข้อกำหนดและเงื่อนไข ความเป็นส่วนตัว