เช็คสุขภาพ : ที่นี่ ... มีคำตอบให้ทุกคำถามเกี่ยวกับสุขภาพของท่าน
หน้าแรก / บทความ / ตะไคร้ (Lemongrass)
โดย : วณิชชา สุมานัส
ทบทวนบทความโดย : ทีมแพทย์เช็คสุขภาพ
ตะไคร้ (Lemongrass)

เครดติภาพ: Herbal Daily

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์:

ตะไคร้เป็นพืชล้มลุกจำพวกหญ้า ขึ้นอยู่รวมเป็นกอ อายุหลายปี สูง 1 เมตร ลำต้นตั้งตรง มีข้อและปล้องสั้น ๆ ค่อนข้างแข็ง ลำต้นส่วนที่อ่อนมีใบเรียงซ้อนกันแน่นมาก กาบใบเป็นแผ่น ยาวโอบซ้อนกันจนดูแข็ง ใบเป็นใบเดี่ยว รูเรียวยาว ปลายใบเรียวแหลม ผิวใบสากมือทั้งสองด้าน ขอบใบมีขนขึ้นอยู่เล็กน้อย ก้านใบสีขาวนวล หรือม่วงอ่อนแผ่เป็นกาบ เมื่อขยี้ดมจะมีกลิ่นหอม ดอกออกเป็นช่อกระจาย ช่อดอกย่อยมีก้านออกเป็นคู่ ๆ ในแต่ละคู่จะมีใบประดับรองรับ แต่ดอกออกยาก
สรรพคุณทางยา:
ตะไคร้มักนำมาใช้ช่วยในเรื่องระบบทางเดินอาหาร ปวดท้อง ความดันโลหิตสูง ชักกระตุก อาการปวด อาเจียน ไอ ปวดข้อ (ไขข้ออักเสบ) ไข้หวัด และอ่อนเพลีย นอกจากนี้ ยังใช้เพื่อฆ่าเชื้อโรคและเป็นยาสมานแผล บางครั้ง มีการนำตะไคร้ และน้ำมันหอมระเหยตะไคร้มาใช้กับผิวหนัง บรรเทาอาการปวดศีรษะ ปวดท้อง และปวดกล้ามเนื้อ บางครั้ง มีการนำตะไคร้มาใช้เป็นน้ำมันหอมระเหยเพื่อผ่อนคลาย บรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อ ตะไคร้ช่วยในเรื่องการไหลเวียนของเลือด ช่วยฆ่าเชื้อโรคเมื่อเกิดโรคน้ำกัดเท้า บาดแผลจาดของมีคม เอ็นกล้ามเนื้ออักเสบ เคล็ดขัดยอก และปวดข้อ 
ส่วนที่ใช้ทำยาและสรรพคุณอื่น ๆ:

  • ทั้งต้น: ใช้กับผู้ป่วยที่เป็นโรคหืด แก้ปวดท้อง ขับปัสสาวะ และแก้อหิวาตกโรค หรือทำยาทานวด นอกจากนี้ ตะไคร้ยังใช้รวมกับสมุนไพรอื่นเพื่อช่วยในการบำรุงธาตุ เจริญอาหาร และขับเหงื่อ
  • เฉพาะต้น: ใช้ขับลม ช่วยเจริญอาหาร แก้ผมแตกปลาย แก้โรคทางเดินปัสสาวะ นิ่ว เป็นยาบำรุงไฟธาตุให้เจริญ นอกจากนี้ ยังมีการนำมาผสมกับสมุนไพรชนิดอื่นเพื่อแก้โรคหนองใน และใช้ดับกลิ่นคาวอื่น ๆ
  • ราก: ใช้เมื่อเกิดโรคไข้เหนือ ปวดท้องและท้องเสีย
  • หัว: ใช้กับผิวหนังเมื่อเกิดเกลื้อน แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ แก้ปัสสาวะมาผิดปกติ แก้นิ่ว บำรุงไฟธาตุ ใช้เมื่อเกิดอาการขัดเบา บางครั้งนำมาใช้ร่วมกับสมุนไพรอื่นเพื่อแก้อาเจียน ช่วยในการนอนหลับ กินแล้วทำให้ความดันลดลงได้ ใช้เมื่อเกิดลมอัมพาต กษัยเส้น และลมใบ
  • น้ำมันตะไคร้: ใช้เป็นเครื่องหอม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสบู่ ยาหม่อง หรือทำเป็นของพ่นหรือทาผิวหนังเพื่อป้องกันแมลงหรือยุง

ตะไคร้ยังนำมาใช้ลดอาการปวด ลดไข้ กระตุ้นการไหลเวียนของเลือดในมดลูก และประจำเดือน และมีคุณสมับติต้านอนุมูลอิสระ ช่วยป้องกันการเจริญเติบโตของแบคทีเรียและยีสต์บางชนิด
ข้อควรระวังและคำเตือน:
หากกำลังคิดจะใช้อาหารเสริมที่ตะไคร้เป็นส่วนผสม ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสมุนไพร หากมีอาการหรือลักษณะดังต่อไปนี้:
- อยู่ในช่วงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร เนื่องจาก ในขณะตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร ควรใช้ยาตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น
- ใช้ยาชนิดอื่นร่วมด้วย ทั้งในกรณีที่ซื้อกินเองและยาตามแพทย์สั่ง
- มีอาการแพ้สารจากตะไคร้ หรือแพ้ยาชนิดอื่น หรือแพ้สมุนไพรชนิดอื่น
- ไม่สบาย มีอาการผิดปกติ หรือพยาธิสภาพอื่น ๆ
- มีอาการแพ้ต่าง ๆ เช่น แพ้อาหาร สีผสมอาหาร สารกันบูด หรือเนื้อสัตว์

ข้อบังคับสำหรับอาหารเสริมประเภทสมุนไพรนั้นมีความเข้มงวดน้อยกว่ายา ทั้งนี้ จำเป็นต้องมีการศีกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับความปลอดภัยเพิ่มเติม ประโยชน์ของการใช้อาหารเสริมประเภทสมุนไพรต้องมีมากกว่าผลข้างเคียง ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านสมุนไพรหรือแพทย์ผู้ทำการรักษาสำหรับข้อมูลเพิ่มเติมก่อนใช้ทุกครั้ง
ข้อความระวังเพิ่มเติมในการใช้ตะไคร้:
- เลี่ยงการใช้น้ำมันตะไคร้บริเวณใกล้ดวงตา และควรหยุดใช้ทันทีหาเกิดอาการผิดปกติ หรือผื่นที่ผิวหนัง
- การใช้ตะไคร้ในรูปแบบใดก็ตามในช่วงช่วงตั้งครรภ์และให้นมบุตรอาจไม่ปลอดภัย ตะไคร้อาจทำให้การไหลเวียนโลหิตผิดปกติ จึงมีโอกาสทำให้เกิดการแท้งได้ 
ผลข้างเคียง:
ตะไคร้เป็นสมุนไพรในครัวเรือน และมีคู่กับครัวคนไทยมาช้านาน ตะไคร้จึงดูเหมือนปลอดภัยสำหรับคนส่วนใหญ่ หากนำมาใช้ในปริมาณที่เหมาะสม ตะไคร้อาจไม่สร้างผลข้างเคียงใด ๆ หากนำมาใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางการแพทย์ระยะสั้น แต่อย่างไรก็ตาม สำหรับคนที่มีความไวต่อสารจากตะไคร้อาจเกิดผื่นระคายเคืองตามผิวหนัง ไม่สบาย คันตามผิวหนัง แสบร้อนจากการใช้น้ำมันตะไคร้ ในบางราย ระดับน้ำตาลอาจลดลง และผู้ที่ใช้ยาประเภทรักษาโรคเบาหวานที่มีตัวยาลดการดูดซึมน้ำตาล และความดันโลหิตสูง อาจต้องเลี่ยงการใช้ตะไคร้ในทุกรูปแบบ

อย่างไรก็ตาม ผลข้างเคียงไม่ได้เกิดขึ้นแบบเดียวกับทุกคน อาจมีผลข้างเคียงอย่างอื่นที่ไม่ได้ระบุในบทความนี้ หากเป็นโรคเบาหวานหรือความดันโลหิตสูง แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสมุนไพรใกล้บ้านท่าน

อันตรกิริยาของตะไคร้กับยาอื่น:

มีการพูดถึงปฏิกิริยาของตะไคร้ต่อยาตัวอื่น แต่ยังไม่มีงานวิจัยที่ชัดเจนในเรื่องนี้นัก หากต้องการใช้ตะไคร้และเพื่อให้มั่นใจว่า สารในตะไคร้จะไม่มีปฏิกิริยากับยาอื่น ๆ ให้ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสมุนไพรโดนเฉพาะ

ขนาดการใช้:

  • อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่นจุกเสียด

นำเอาตะไคร้ที่มีลำต้นแก่ และสด ๆ มาประมาณ 1 กำมือ ทุบให้แหลกพอดี แล้วนำไปต้มน้ำดื่ม หรือนำตะไคร้ทั้งต้นและรากประมาณ 5 ต้น แล้วสับเป็นท่อน ๆ ต้มกับเกลือ ต้มจากน้ำ 3 ส่วน เหลือเพียง 1 ส่วน แล้วดื่มประมาณ 3 วัน วันละ 1 ถ้วยแก้ว

  • ปัสสาวะขัด
    ใช้ต้นสด (ตัดใบทิ้ง) หนัก 40-50 กรัม หรือ 1 กำมือ ถ้าใช้ตะไคร้แห้ง ให้หนักประมาณ 20-30 กรัม ต้มกับน้ำ 3-4 ถ้วยชา แบ่งน้ำดื่มวันละ 3 ครั้ง ครั้งละ 1 ถ้วยชา ก่อนอาหาร ทำเช่นนี้ทุกวัน หรือใช้เหง้ามาฝานเป็นแว่นบาง ๆ คั่วไฟอ่อน ๆ พอเหลือง ใช้ครั่งละ 1 หยิบมือ ชงกับน้ำ 1 ถ้วยชา รินเอาแต่น้ำ ดื่มจนหมด วันละ 3 ครั้ง เมื่อปัสสาวะคล่องดีแล้วจึงหยุด
  • ท้องเสีย อหิวาต์

ตะไคร้สด 100 กรัม หั่นเป็นแว่น ๆ ต้มกับน้ำครึ่งลิตร เคี่ยวจนเหลือครึ่งเดียว ดื่มอุ่น ๆ ช่วยบรรเทาอาการท้องเสียที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย แก้อหิวา เพราะมีน้ำมันหอมละเหยซิทราล ที่มีสรรพคุณช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย อีกทั้งยังช่วยฆ่าแบคทีเรียได้อีกด้วย

  • โรคผิวหนังที่เกิดจากเชื้อรา

ตะไคร้สด 1 ต้นฝนกับเหล้าขาว 1 ช้อนแกงทาบริเวณที่เป็นโรคผิวหนัง เช่น กราก เกลื้อน น้ำกัดเท้า น้ำมันหอมระเหยซิทราลและเมอร์ซีลช่วยต้านและทำลายเชื้อราที่เป็นเหตุของโรค

คุณค่าทางอาหาร:

ลำต้นตะไคร้มีกลิ่นหอม ใช้เป็นเครื่องเทศ โดยตัดลำต้นตะไคร้ส่วนที่อยูเหนือพื้นดินประมาณ 1-2 นิ้ว นำมาใช้เป็นเครื่องปรุงรส และแต่งกลิ่นอาหารไทยได้หลายเมนู ใช้เป็นส่วนผสมของเครื่องแกง เช่น น้ำพริกแกงทุกชนิด ต้มยำ ต้มเนื้อ ยำ ต้มโคร้ง แกงไตปลา ข้าวยำปักษ์ใต้ ตะไคร้จะช่วยดับกลิ่นคาวของเนื้อสัตว์ ทำให้รวชาติดีขึ้น และยังช่วยขับลมอีกด้วย
ตะไคร้นำมาแปรรูปในรูปแบบใดได้บ้าง:

  • ชาตะไคร้
  • เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ
  • น้ำมันตะไคร้
  • สารสะกัดตะไคร้แห้ง

ตัวอย่างการแปรรูปจากตะไคร้:

  • น้ำดื่มตะไคร้เพื่อสุขภาพ
    • ตะไคร้ 20 กรัม
    • น้ำเชื่อม 15 กรัม
    • น้ำเปล่า 240 กรัม

วิธีทำ: นำตะไคร้มาล้างให้สะอาด หั่นเป็นท่อนสั้น ๆ ทุบให้แหลก ใส่หม้อต้มกับน้ำให้เดือด กระทั่งน้ำตะไคร้ออกมาปนกันกับน้ำจนเป็นสีเขียว สักครู่จึงยกลง กรองเอาตะไคร้ออก เติมน้ำเชื่อม ชิมตารสที่ชอบ

WebMD. (2016). Lemongrass. แหล่งที่มา: http://www.webmd.com/vitamins-supplements/ingredientmono-719-lemongrass.aspx?activeingredientid=719&activeingredientname=lemongrass. เข้าถึงข้อมูลเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2561

Home Remedies for You. (2016). Lemongrass. แหล่งที่มา: http://www.home-remedies-for-you.com/herbs/lemon-grass.html. เข้าถึงข้อมูลเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2561

Herbslist. (2016). Lemongrass. แหล่งที่มา: http://www.herbslist.net/lemongrass.html. เข้าถึงข้อมูลเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2561

อ.วันโชค. (2560). ธรรมชาติบำบัด: ร้อยแปดพันเก้าสมุนไพรห่างไกลโรค. กรุงเทพ: สำนักพิมพ์ Feel Good.

พิมลพรรณ อนันต์กิจไพศาล. (2560). สุดยอด 108 สมุนไพรไทย ใช้เป็น หายป่วย. กรุงเทพ: สำนักพิมพ์ เก็ท ไอเดีย.

26/05/2018
บทความที่เกี่ยวข้อง

หรือโกจิเบอร์ริ (GOJI BERRY) เป็นสมุนไพรที่ถูกค้นพบโดยชาวหิมาลายัน4000ปีก่อนคริสตกาล เพิ่งตื่นรู้และแพร่หลายในป้จจุบัน ชาวจีน ทิเบตและอินเดียนำไปใช้ปรุงยา



Morinda citrifolia L. มีประโยชน์มากมายทางด้านสุขภาพ และสามารถหาเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ได้สะดวก เพราะมีขึ้นอยู่ทั่วทุกสภาพดิน และสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ตั้งแต่



เป็นไม้ล้มลุกกึ่งเลื้อย ลำต้นเป็นข้อปล้อง อวบน้ำ ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ รูปรี ปลายแหลม โคนใบเป็นกาบหุ้มลำต้นบริเวณข้อ สีเขียวสด เมื่อขยี้จะมีน้ำลื่นคล้ายเมือก


CHECKSUKKAPHAP.COM
เลขที่ 598 ชั้น 6 ถนนเพลินจิต ลุมพินี ปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330
095-515-9229
ข้อกำหนดและเงื่อนไข ความเป็นส่วนตัว