เช็คสุขภาพ : ที่นี่ ... มีคำตอบให้ทุกคำถามเกี่ยวกับสุขภาพของท่าน
หน้าแรก / บทความ / ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ (Urinary Incontinence) อาการ สาเหตุและการรักษา
โดย : ชิตสุดา ชัยศักดานุกูล
ทบทวนบทความโดย : ทีมเช็คสุขภาพ
ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ (Urinary Incontinence) อาการ สาเหตุและการรักษา

ผู้ป่วยที่สูญเสียความสามารถในการควบคุมกระเพาะปัสสาวะจะมีภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ หรือที่เรียกว่า ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ (Urinary Incontinence) ซึ่งทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการเขินอาย ผู้ป่วยเหล่านี้มักจะมีปัสสาวะเล็ดเวลาไอหรือจาม บางครั้งอาจมีปัสสาวะราดก่อนที่จะไปเข้าห้องน้ำได้ทัน ภาวะนี้พบได้บ่อยในผู้ป่วยสูงวัย

สัญญาณและอาการของภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่

ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่แบ่งออกเป็น 5 ประเภท ดังนี้

  • ปัสสาวะเล็ดขณะออกแรง  ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีปัสสาวะเล็ดซึ่งเกิดขึ้นเมื่อกระเพาะปัสสาวะได้รับแรงดันจากการไอ จาม หัวเราะ ออกกำลังกาย หรือยกของหนัก 
  • ปัสสาวะเล็ดทันทีเมื่อปวดปัสสาวะ  ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะรู้สึกปวดปัสสาวะมากและฉับพลันทำให้มีปัสสาวะเล็ดออกมา บางรายอาจมีอาการปัสสาวะบ่อย ต้องลุกขึ้นมาปัสสาวะตอนกลางคืนหลายครั้ง อาการเหล่านี้อาจเกิดจากการติดเชื้อ หรือสาเหตุที่รุนแรงกว่า เช่น ความผิดปกติของระบบประสาท หรือโรคเบาหวาน/เบาจืด
  • ปัสสาวะเล็ดตลอดเวลาเนื่องจากมีปัสสาวะค้างในกระเพาะปัสสาวะ  ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีปัสสาวะเล็ดออกมาบ่อยและออกมาเรื่อย ๆ เนื่องจากในกระเพาะปัสสาวะยังมีน้ำปัสสาวะค้างอยู่
  • ปัสสาวะเล็ดทั้งที่ไม่มีความผิดปกติของระบบขับถ่ายปัสสาวะ  ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะไม่สามารถปัสสาวะในห้องน้ำได้ทัน เนื่องจากความบกพร่องทางกายภาพหรือทางจิต
  • ปัสสาวะเล็ดแบบผสม  ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ประเภทใดประเภทหนึ่ง หรือหลายประเภทรวมกัน  

ควรพบแพทย์เมื่อใด

ผู้ป่วยบางรายอาจรู้สึกไม่สบายใจในการปรึกษาอาการปัสสาวะเล็ดกับแพทย์ อย่างไรก็ตามถ้าอาการนี้เกิดขึ้นบ่อยและส่งผลต่อคุณภาพการใช้ชีวิต ผู้ป่วยต้องได้รับคำแนะนำการรักษาเนื่องจาก

  • ผู้ป่วยอาจมีโรคประจำตัวอื่นที่รุนแรงกว่า 
  • ผู้ป่วยอาจหยุดทำกิจกรรมต่างๆ และจำกัดการเข้าสังคม
  • ผู้ป่วยสูงวัยจะมีความเสี่ยงสูงขึ้นในการหกล้มของขณะเร่งรีบเข้าห้องน้ำ

อะไรคือสาเหตุของภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่

พฤติกรรมหลายอย่างในชีวิตประจำวันสามารถก่อให้เกิดภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่  รวมทั้งโรคประจำตัวบางชนิดหรือปัญหาทางกายภาพบางอย่างสามารถก่อให้เกิดภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ได้เช่นเดียวกัน

ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่แบบชั่วคราว

อาหาร เครื่องดื่ม และยาบางชนิด สามารถกระตุ้นการขับปัสสาวะได้ โดยเพิ่มปริมาณปัสสาวะและกระตุ้นกระเพาะปัสสาวะของผู้ป่วย ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่แบบชั่วคราวสามารถเกิดขึ้นกับผู้ป่วยที่

  • ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
  • ดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน
  • ดื่มน้ำอัดลมและน้ำอัดลมแบบไม่มีรส
  • ดื่มเครื่องดื่มที่ใช้น้ำตาลเทียม
  • รับประทานช็อกโกแลต
  • รับประทานพริกขี้หนู
  • รับประทานอาหารที่มีเครื่องเทศ น้ำตาล หรือกรดสูง โดยเฉพาะผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว
  • กินยารักษาโรคหัวใจ ยาลดความดัน ยาระงับประสาท และยาคลายกล้ามเนื้อ
  • รับประทานวิตามินซีสูง

นอกจากนี้สภาวะบางอย่างอาจเป็นสาเหตุให้เกิดภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ได้แก่

การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ  ผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อที่ทางเดินปัสสาวะจะมีการระคายเคืองที่กระเพาะปัสสาวะ ซึ่งเป็นสาเหตุให้ปวดปัสสาวะมาก จนบางครั้งกลั้นปัสสาวะไม่อยู่

อาการท้องผูก  ผู้ป่วยที่มีก้อนอุจจาระแข็งอัดแน่นอยู่บริเวณไส้ตรง จะทำให้เส้นประสาทที่อยู่บริเวณรอบไส้ตรงถูกกระตุ้น ส่งผลให้ปัสสาวะบ่อยมากขึ้น

ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่แบบถาวร

ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่อาจเกิดขึ้นแบบถาวร ซึ่งมีสาเหตุมาจากปัญหาทางกายภาพพื้นฐานบางอย่าง หรือการเปลี่ยนแปลงสภาวะของร่างกายบางประการ ได้แก่

  • การตั้งครรภ์  มีผลทำให้เกิดภาวะปัสสาวะเล็ดขณะออกแรงได้ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนระหว่างตั้งครรภ์ และน้ำหนักของทารกในครรภ์ที่เพิ่มขึ้น 
  • การคลอดบุตร   การคลอดบุตรทางช่องคลอดจะทำให้กล้ามเนื้อที่มีส่วนควบคุมการทำงานของกระเพาะปัสสาวะอ่อนแอลง นอกจากนี้ยังอาจทำลายเส้นประสาทรอบ ๆ กระเพาะปัสสาวะและเนื้อเยื่อค้ำจุนได้ ส่งผลให้กล้ามเนื้อฐานกระดูกเชิงกรานเคลื่อนต่ำลง และมีผลต่อเนื่องให้อวัยวะภายในอุ้งเชิงกราน ได้แก่ กระเพาะปัสสาวะ มดลูก ไส้ตรง หรือลำไส้เล็ก เลื่อนตัวต่ำลงมาจากตำแหน่งเดิม และเคลื่อนเข้าสู่บริเวณช่องคลอด ซึ่งก่อให้เกิดปัสสาวะเล็ดได้
  • การมีอายุมากขึ้นเมื่ออายุมากขึ้นกล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะจะอ่อนแอลง ทำให้ความสามารถในการกักเก็บน้ำปัสสาวะลดลง นอกจากนี้การบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะยังสามารถเกิดขึ้นได้บ่อยในผู้ป่วยสูงวัย 
  • การมีภาวะหมดประจำเดือน:  ผู้ป่วยหญิงเมื่อเข้าสู่ภาวะหมดประจำเดือนจะมีฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลง ซึ่งฮอร์โมนนี้มีผลช่วยรักษาความแข็งแรงของเนื้อเยื่อกระเพาะปัสสาวะและท่อปัสสาวะ เมื่อฮอร์โมนเอสโตรเจนลดต่ำลงจึงทำให้อาการปัสสาวะเล็ดรุนแรงขึ้น 
  • การได้รับการผ่าตัดมดลูก  เนื่องจากกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นจำนวนมากที่รองรับกระเพาะปัสสาวะและมดลูกของผู้หญิงเป็นชุดเดียวกัน ดังนั้นการผ่าตัดที่เกี่ยวข้องกับระบบอวัยวะสืบพันธุ์จึงสามารถทำความเสียหายแก่กล้ามเนื้อฐานกระดูกเชิงกรานที่รองรับอวัยวะดังกล่าวได้ ส่งผลให้เกิดอาการปัสสาวะเล็ด
  • การมีต่อมลูกหมากโต  ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่พบได้ทั่วไปในผู้ป่วยชาย โดยเฉพาะเมื่อผู้ป่วยมีต่อมลูกหมากโต หรือที่เรียกว่า บีไนน์โปรสแตติกไฮเปอร์พลาเซีย 
  • การมีมะเร็งที่ต่อมลูกหมาก  มะเร็งต่อมลูกหมากในผู้ป่วยชายที่ไม่ได้รับการรักษา เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่แบบปัสสาวะเล็ดขณะออกแรง หรือปัสสาวะเล็ดทันทีเมื่อปวดปัสสาวะ

อย่างไรก็ตาม กระบวนการรักษามะเร็งต่อมลูกหมากก็สามารถทำให้เกิดอาการปัสสาวะเล็ดเป็นผลข้างเคียงได้

  • เกิดการอุดตัน  ผู้ป่วยที่มีเนื้องอกในท่อทางเดินปัสสาวะสามารถเกิดอาการปัสสาวะเล็ดตลอดเวลา และบางครั้งอาการปัสสาวะเล็ดก็เป็นผลมาจากการมีนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ

ปัจจัยเสี่ยงอะไรบ้างที่ก่อให้เกิดภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่

ปัจจัย 6 ประการที่สามารถเพิ่มโอกาสการเกิดภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ มีดังนี้

  • เพศของผู้ป่วย  เป็นไปได้มากว่าผู้หญิงมีโอกาสมากกว่าที่จะมีอาการปัสสาวะเล็ดขณะออกแรง ทั้งนี้ความเสี่ยงในการเกิดภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่จะแตกต่างกันไปขึ้นกับปัจจัยต่างๆ เช่น การตั้งครรภ์ การคลอดบุตร ภาวะหมดประจำเดือน และกายวิภาคหญิงปกติ
  • อายุที่มากขึ้น  ผู้ป่วยที่กระเพาะปัสสาวะถูกใช้งานมานาน มีโอกาสสูงขึ้นในการเกิดภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่  ยิ่งกระเพาะปัสสาวะถูกใช้งานนานมากขึ้นเท่าใดยิ่งมีความยากลำบากในการกักเก็บน้ำปัสสาวะ จึงมีความเสี่ยงในการเล็ดของปัสสาวะมากขึ้น
  • การมีภาวะอ้วน  น้ำหนักตัวเกินสามารถเพิ่มโอกาสของการเกิดภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ เนื่องจากความอ้วนจะทำให้เกิดแรงดันต่อกระเพาะปัสสาวะและกล้ามเนื้อโดยรอบ ส่งผลให้กระเพาะปัสสาวะและกล้ามเนื้อโดยรอบอ่อนแอ และเกิดการรั่วไหลของปัสสาวะเวลาไอหรือจาม
  • การสูบบุหรี่  ผู้ป่วยที่สูบบุหรี่จะมีโอกาสเกิดภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่
  • การมีสมาชิกในครอบครัวที่มีภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่  ผู้ป่วยที่มีสมาชิกในครอบครัวมีภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่หนึ่งคนหรือมากกว่า มีโอกาสที่จะมีอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะอาการปัสสาวะเล็ดทันทีเมื่อปวดปัสสาวะ
  • การมีโรคอย่างอื่น  ผู้ป่วยที่มีโรคทางระบบประสาทหรือโรคเบาหวาน/เบาจืด มีโอกาสที่จะเกิดภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่

แพทย์วินิจฉัยภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่อย่างไร

การระบุชนิดของภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ในผู้ป่วยมีความจำเป็น  แพทย์จะวินิจฉัยจากสัญญาณและอาการที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วย  โดยเริ่มจากการตั้งคำถามเป็นลำดับและสอบถามประวัติทางการแพทย์ รวมทั้งทำการตรวจร่างกายบางอย่าง นอกจากนี้แพทย์จะขอให้ผู้ป่วยทำกิจกรรมบางอย่างที่สามารถแสดงให้เห็นถึงอาการปัสสาวะเล็ด เช่น ไอ จากนั้นแพทย์อาจแนะนำ ดังนี้

  • ตรวจปัสสาวะทางห้องปฏิบัติการ  แพทย์จะตรวจปัสสาวะของผู้ป่วยทางห้องปฏิบัติการเพื่อวินิจฉัยการติดเชื้อ การมีเลือดปน หรือความผิดปกติอื่นๆ 
  • เก็บบันทึกประสิทธิภาพของกระเพาะปัสสาวะ  ด้วยกิจกรรมนี้ ไม่ว่าผู้ป่วยจะมีแรงกระตุ้นที่จะปัสสาวะหรือไม่ ผู้ป่วยจะต้องบันทึกปริมาณน้ำที่ดื่ม เวลาในการถ่ายปัสสาวะ  ปริมาณปัสสาวะ และจำนวนครั้งที่เกิดภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่
  • การวัดปริมาณปัสสาวะที่ค้างอยู่   แพทย์จะขอให้ผู้ป่วยปัสสาวะลงในภาชนะที่มีสเกลบอกปริมาณ จากนั้นแพทย์จะตรวจสอบปริมาณปัสสาวะที่เหลืออยู่ในกระเพาะปัสสาวะของผู้ป่วย  ในขั้นตอนนี้แพทย์มักจะใช้สายสวนหรือตรวจด้วยอัลตราซาวด์  หากมีปัสสาวะเหลืออยู่มากอาจบ่งบอกถึงการอุดตันในทางเดินปัสสาวะ ซึ่งหมายถึงผู้ป่วยมีสิ่งอุดตันอยู่ในทางเดินปัสสาวะ หรือผู้ป่วยมีปัญหาเกี่ยวกับเส้นประสาทหรือกล้ามเนื้อของกระเพาะปัสสาวะ

แพทย์รักษาภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่อย่างไร

แพทย์อาจแนะนำวิธีการรักษาต่างๆ ดังนี้

ประเภทของภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่จะช่วยให้แพทย์แนะนำการรักษาที่ถูกต้องสำหับผู้ป่วยได้  ในบางกรณีแพทย์อาจใช้การรักษาหลายวิธีในเวลาเดียวกัน ในกรณีที่ซับซ้อน เช่น ผู้ป่วยมีโรคประจำตัว แพทย์มีแนวโน้มที่จะรักษาโรคประจำตัวก่อน และในการรักษาจะเริ่มต้นจากวิธีการที่ไม่ยุ่งยากก่อน  อย่างไรก็ตามถ้าวิธีการรักษานั้นไม่ได้ผลแพทย์จะเลือกใช้วิธีอื่นต่อไป

เทคนิคการปรับพฤติกรรม 

แพทย์อาจเลือกใช้วิธีการฝึกกระเพาะปัสสาวะให้ชะลอการขับปัสสาวะเมื่อผู้ป่วยมีความต้องการเข้าห้องน้ำมาก

  • แพทย์อาจให้ผู้ป่วยพยายามถ่ายปัสสาวะ 2 ครั้งเมื่อเข้าห้องน้ำครั้งหนึ่ง  เพื่อทำให้กระเพาะปัสสาวะว่าง เป็นการป้องกันอาการปัสสาวะเล็ดตลอดเวลาเนื่องจากมีปัสสาวะค้างในกระเพาะปัสสาวะ
  • แพทย์อาจแนะนำกำหนดการเข้าห้องน้ำให้ผู้ป่วย เช่น ให้ผู้ป่วยปัสสาวะทุกสองถึงสี่ชั่วโมงมากกว่าการเข้าห้องน้ำทุกครั้งเมื่อปวดปัสสาวะ
  • แพทย์อาจเลือกวิธีการจัดการของเหลวและอาหารเพื่อฟื้นการควบคุมกระเพาะปัสสาวะของผู้ป่วย ในกรณีนี้แพทย์จะขอให้ผู้ป่วยลดการบริโภคหรือหลีกเลี่ยงแอลกอฮอล์ คาเฟอีน หรืออาหารที่เป็นกรด แพทย์อาจขอให้ผู้ป่วยลดการดื่มน้ำมาก ให้ผู้ป่วยลดน้ำหนักและออกกำลังกายมากขึ้นเพื่อบรรเทาปัญหา 

การออกกำลังกายเพื่อบริหารกล้ามเนื้อฐานกระดูกเชิงกราน

การออกกำลังกายชนิดนี้เป็นที่รู้จักกันในนามการออกกำลังกายแบบคีเกิล แพทย์จะส่งเสริมให้ผู้ป่วยที่มีภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ออกกำลังกายวิธีนี้บ่อยๆ เพื่อช่วยเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อที่ควบคุมการถ่ายปัสสาวะ  การทำเช่นนี้มีประสิทธิภาพสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการปัสสาวะเล็ดขณะออกแรง และปัสสาวะเล็ดทันทีเมื่อปวดปัสสาวะ วิธีการมีดังนี้

ฝึกการหดตัวของกล้ามเนื้อ  โดยการขมิบกล้ามเนื้อรอบฐานกระดูกเชิงกรานเพื่อหยุดการถ่ายปัสสาวะและค้างไว้เป็นเวลาห้าวินาทีในแต่ละครั้ง และคลายออกเป็นเวลาอีกห้าวินาที แต่ถ้ายากเกินไปสำหรับผู้ป่วยบางคน อาจให้เริ่มจากการขมิบค้างไว้สองวินาทีและคลายออกเป็นเวลาสามวินาที

  • ขมิบ  ค้างการเกร็งนี้ไว้เป็นเวลา 10 วินาที 
  • ขมิบและคลายออก  ตั้งเป้าหมายทำให้ได้อย่างน้อยสามรอบ โดยแต่ละรอบทำซ้ำ 10 ครั้ง และทำแบบนี้ทุกวัน 

แพทย์ผู้ดูแลอาจส่งต่อผู้ป่วยไปยังนักกายภาพบำบัดเพื่อพยายามระบุและจำกัดวงกล้ามเนื้อที่ถูกต้อง โดยแพทย์อาจแนะนำให้ใช้เทคนิคการฝึกให้ผู้ป่วยสามารถควบคุมร่างกายของตนเองได้ หากจำเป็น

การกระตุ้นด้วยไฟฟ้า

แพทย์อาจสอดขั้วไฟฟ้าบางอย่างเข้าไปในทวารหนักหรือช่องคลอดของผู้ป่วย เพื่อกระตุ้นและทำให้กล้ามเนื้อฐานกระดูกเชิงกรานแข็งแรง ผู้ป่วยที่มีอาการปัสสาวะเล็ดขณะออกแรง และปัสสาวะเล็ดทันทีเมื่อปวดปัสสาวะ แพทย์อาจใช้การกระตุ้นด้วยไฟฟ้าอย่างอ่อน อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยต้องได้รับการรักษาหลายวิธีเป็นเวลาหลายเดือน

การให้ยา

แพทย์อาจให้ยาบางชนิดในการรักษา ได้แก่

    • ยาในกลุ่มแอนติโคลิเนอร์จิก  ยากลุ่มนี้มีประสิทธิภาพสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการปัสสาวะเล็ดทันทีที่ปวดปัสสาวะ ช่วยระงับภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน
    • ยาในกลุ่มมิราเบกรอน (ไมร์เบทริค)   แพทย์ใช้ยากลุ่มนี้ในการรักษาอาการปัสสาวะเล็ดทันทีเมื่อปวดปัสสาวะ ยากลุ่มนี้ช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะ ช่วยให้กระเพาะปัสสาวะสามารรับปริมาณปัสสาวะที่เพิ่มขึ้นได้ นอกจากนี้ยังช่วยเพิ่มการถ่ายปัสสาวะซ้ำ เพื่อช่วยให้กระเพาะปัสสาวะขับปัสสาวะออกได้หมด
    • ยาในกลุ่มแอลฟา-บล็อกเกอร์  ยากลุ่มนี้มีประสิทธิภาพมากกับผู้ป่วยที่มีอาการปัสสาวะเล็ดทันทีที่ปวดปัสสาวะ หรือปัสสาวะเล็ดตลอดเวลาเนื่องจากมีปัสสาวะค้างในกระเพาะปัสสาวะ โดยช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อคอกระเพาะปัสสาวะและใยกล้ามเนื้อในต่อมลูกหมาก นอกจากนี้ยังช่วยให้กระเพาะปัสสาวะขับปัสสาวะออกหมดได้ง่าย
    • การให้เอสโตรเจนเฉพาะที่  แพทย์จะใช้ฮอร์โมนเอสโตรเจนปริมาณต่ำกับผู้ป่วยในบริเวณท่อปัสสาวะและช่องคลอด โดยฮอร์โมนเอสโตรเจนนี้อยู่ในรูปของครีม วงแหวน หรือแผ่น ซึ่งจะช่วยปรับและฟื้นฟูเนื้อเยื่อบริเวณนั้น

การใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์  

แพทย์อาจใช้อุปกรณ์บางอย่างที่ออกแบบมาเพื่อรักษาอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ในผู้ป่วยหญิง ได้แก่

  • การสอดท่อปัสสาวะ  ผู้ป่วยจะสอดอุปกรณ์ชนิดใช้แล้วทิ้งลักษณะเหมือนผ้าอนามัยขนาดเล็กเข้าไปในท่อปัสสาวะก่อนการทำกิจกรรมเฉพาะบางอย่าง เช่น เล่นเทนนิส ซึ่งอุปกรณ์นี้จะช่วยป้องกันปัสสาวะเล็ด และผู้ป่วยสามารถถอดออกได้ก่อนปัสสาวะ 
  • เพสซารี  ผู้ป่วยสามารถใส่อุปกรณ์รูปวงแหวนที่มีขนาดกระชับแน่นในช่องคลอดตลอดทั้งวัน โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีการหย่อนคล้อยของกล้ามเนื้อช่องคลอด ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดปัสสาวะเล็ด  อุปกรณ์นี้จะช่วยพยุงกระเพาะปัสสาวะที่อยู่ใกล้กับช่องคลอด เป็นการป้องกันการรั่วไหลของปัสสาวะ

การรักษา

แพทย์อาจต้องใช้วิธีอื่นร่วมรักษาเพื่อช่วยลดอาการปัสสาวะเล็ด ดังนี้

    • การฉีดวัสดุพยุง  แพทย์จะฉีดวัสดุสังเคราะห์เข้าไปในเนื้อเยื่อรอบท่อปัสสาวะของผู้ป่วย  วัสดุพยุงนี้จะช่วยให้ท่อปัสสาวะปิดและช่วยลดปัสสาวะเล็ด ถ้าแพทย์ตัดสินใจที่จะใช้วิธีนี้ ผู้ป่วยต้องรับการฉีดซ้ำเป็นประจำ  อย่างไรก็ตาม วิธีนี้มีประสิทธิภาพน้อยกว่าการรักษาทางการแพทย์ที่ต้องล้วงล้ำเข้าไปในร่างกาย เช่น การผ่าตัด 
    • การใช้โบทูลินั่มท็อกซินชนิดเอ (โบท็อกซ์)  การฉีดโบท็อกซ์เข้าไปในกล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะอาจเป็นประโยชน์กับผู้ป่วยที่มีภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน แพทย์จะใช้วิธีนี้หากวิธีการรักษาอื่นไม่ได้ผล 
    • การกระตุ้นเส้นประสาท  แพทย์จะฝังอุปกรณ์ที่มีลักษณะคล้ายเครื่องกระตุ้นหัวใจใต้ผิวหนังของผู้ป่วย เพื่อส่งคลื่นไฟฟ้าไปยังเส้นประสาทที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมกระเพาะปัสสาวะ  ซึ่งคือเส้นประสาทบริเวณกระดูกใต้กระเบนเหน็บ  การกระตุ้นเส้นประสาทเหล่านี้จะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถควบคุมอาการปัสสาวะเล็ดทันทีเมื่อปวดปัสสาวะ  แพทย์จะเลือกใช้วิธีนี้หากวิธีการรักษาอื่นไม่ได้ผล ในบางกรณีแพทย์จะฝังอุปกรณ์ใต้ผิวหนังบริเวณก้นของผู้ป่วย ซึ่งเชื่อมต่อกับสายไฟที่หลังส่วนล่าง หรือบริเวณหัวหน่าว  ในกรณีอื่นๆ แพทย์จะสอดอุปกรณ์เข้าไปในช่องคลอดถ้าเป็นผู้ป่วยหญิง

การผ่าตัด

ในกรณีที่วิธีการรักษาต่างๆ ไม่ได้ผล วิธีการผ่าตัดหลายวิธีสามารถนำมาใช้รักษาภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ได้ ดังนี้

  • การผ่าตัดใส่สายคล้อง   แพทย์จะใช้แถบเนื้อเยื่อที่ได้จากเนื้อเยื่อร่างกายของผู้ป่วยส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือวัสดุสังเคราะห์ หรือตาข่าย เพื่อสร้างสายคล้องอุ้งเชิงกรานรอบท่อปัสสาวะของผู้ป่วย ลักษณะเช่นเดียวกับแผ่นกล้ามเนื้อหนาที่กระเพาะปัสสาวะเชื่อมต่อกับท่อปัสสาวะหรือคอปัสสาวะ สายคล้องนี้จะช่วยให้ท่อปัสสาวะปิด โดยเฉพาะเมื่อผู้ป่วยไอหรือจาม แพทย์ใช้การผ่าตัดนี้รักษาอาการปัสสาวะเล็ดเมื่ออกแรง
  • การผ่าตัดยกเนื้อเยื่อรอบๆ คอกระเพาะปัสสาวะ  แพทย์จะใช้วิธีการนี้เพื่อพยุงท่อปัสสาวะและคอกระเพาะปัสสาวะของผู้ป่วย  วิธีนี้เกี่ยวข้องกับการผ่าตัดเปิดช่องท้อง แพทย์จึงต้องใช้ยาสลบโดยวิธีดมยาหรือวางยาสลบทางไขสันหลัง 
  • การผ่าตัดเพื่อฟื้นฟูการหย่อนคล้อย  แพทย์อาจใช้การผ่าตัดเพื่อฟื้นฟูการหย่อนคล้อยร่วมกับการผ่าตัดใส่สายคล้อง  เพื่อรักษาผู้ป่วยหญิงที่มีอาการปัสสาวะเล็ดแบบผสมและมีการหย่อนคล้อยของอวัยวะอุ้งเชิงกราน
  • การผ่าตัดใส่อุปกรณ์ป้องกันปัสสาวะเล็ด  แพทย์จะใส่วงแหวนขนาดเล็กที่บรรจุด้วยของเหลวรอบคอกระเพาะปัสสาวะของผู้ป่วยชาย เพื่อให้หูรูดปัสสาวะปิดจนกว่าผู้ป่วยพร้อมที่จะปัสสาวะ โดยผู้ป่วยสามารถทำเองได้ด้วยการกดวาลว์ที่แพทย์ฝังอยู่ใต้ผิวหนัง ซึ่งจะส่งผลให้วงแหวนยุบตัวและช่วยให้ปัสสาวะไหลออกมาจากกระเพาะปัสสาวะ 

การใช้แผ่นรองซึมและสายสวนปัสสาวะ

ในกรณีที่วิธีการรักษาดังกล่าวข้างต้นไม่ได้ผล แพทย์อาจแนะนำผลิตภัณฑ์บางชนิดที่ช่วยอำนวยความสะดวกเมื่อมีปัสสาวะเล็ด

  • แผ่นรองซึมและเครื่องแต่งกายที่ป้องกัน  แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยชายสวมกางเกงในที่สามารถดูดซับการไหลของปัสสาวะ ทั้งนี้ผู้ป่วยอาจสวมอุปกรณ์รองรับการไหลของปัสสาวะไว้ที่องคชาต 
  • สายสวนปัสสาวะ  ในกรณีของผู้ป่วยที่มีปัญหาไม่สามารถถ่ายปัสสาวะได้หมดจากกระเพาะปัสสาวะ แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยเรียนรู้วิธีใส่สายสวนเข้าไปในท่อปัสสาวะเพื่อระบายปัสสาวะออกวันละหลายครั้ง

การเตรียมตัวสำหรับการนัดหมาย

ก่อนมาพบแพทย์ ผู้ป่วยควรเตรียมข้อมูลเกี่ยวกับอาการที่เป็นอยู่ ยาทั้งหมดที่ใช้ และคำถามที่ต้องการจะสอบถามแพทย์ ฯลฯ 

การตอบคำถามของแพทย์

 ผู้ป่วยอาจต้องตอบคำถามเป็นลำดับ เช่น เริ่มเกิดอาการเมื่อใด ความรุนแรงของอาการเป็นอย่างไร หรือมีสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคนี้หรือไม่ ฯลฯ

ประวัติเจ้าของบทความ

ชิตสุดา ชัยศักดานุกูล จบการศึกษาปริญญาตรีสาขาชีวเคมี จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปริญญาโทด้านโภชนศาสตร์และปริญญาเอกด้านวิทยาศาสตร์การอาหาร เคยเป็นอาจารย์ประจำที่มหาวิทยาลัยรังสิตและมีประสบการณ์งานแปลภาษาไทย - อังกฤษ และอังกฤษ - ไทย

ปัจจุบันชิตสุดาเป็นนักแปลอิสระด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพและการแพทย์ มีความเชี่ยวชาญงานแปลสารคดี บทความวิจัย รวมทั้งบทบรรยายสารคดี

13/06/2021
บทความที่เกี่ยวข้อง
CHECKSUKKAPHAP.COM
เลขที่ 598 ชั้น 6 ถนนเพลินจิต ลุมพินี ปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330
095-515-9229
ข้อกำหนดและเงื่อนไข ความเป็นส่วนตัว