เช็คสุขภาพ : ที่นี่ ... มีคำตอบให้ทุกคำถามเกี่ยวกับสุขภาพของท่าน
หน้าแรก / บทความ / นิ่วในไต (Kidney Stones) สาเหตุ อาการและการรักษา
โดย : พรภินันท์ พุทธชาติ
ทบทวนบทความโดย : ทีมเช็คสุขภาพ
นิ่วในไต (Kidney Stones) สาเหตุ อาการและการรักษา

นิ่วในไต (Kidney Stones) เป็นผลึกที่เกิดจากแร่ธาตุและเกลือในไต อาจมีขนาดตั้งแต่ผลึกน้ำตาลไปจนถึงลูกปิงปอง และตรวจพบได้ยาก นอกจากจะเกิดการอุดตันขึ้น

นิ่วในไตเกิดจากอาหารที่รับประทาน น้ำหนักเกิน และภาวะสุขภาพบางอย่าง ผู้ที่ทานอาหารเสริมและใช้ยาบางชนิดก็มีโอกาสเกิดนิ่วในไตได้เช่นกัน นิ่วสามารถส่งผลกระทบต่อส่วนต่าง ๆ ของทางเดินปัสสาวะของคุณตั้งแต่ไตไปจนถึงกระเพาะปัสสาวะ

นิ่วในไตที่หลุดลงมาที่ทางเดินปัสสาวะอาจทำให้เกิดอาการปวดอย่างรุนแรง การตรวจพบตั้งแต่เนิ่นๆ นั้นสามารถช่วยป้องกันความเสียหายเพิ่มเติมได้ แม้ว่าความเสียหายจะเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว แต่ผู้ป่วยนิ่วในไตก็ยังควรปรึกษาแพทย์ เพื่อได้รับการรักษาเบื้องต้น เช่น การใช้ยาบรรเทาปวด ในบางกรณี ผู้ป่วยอาจถูกขอให้ดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อเจือจางสารในปัสสาวะและขับออกมาตามธรรมชาติ ในบางกรณีอาจต้องผ่าตัดหากนิ่วที่ติดอยู่ในทางเดินปัสสาวะที่อาจก่อให้เกิดการติดเชื้อแทรกซ้อนได้

อาการของนิ่วในไตเป็นอย่างไร

สัญญาณบ่งชี้และอาการของนิ่วในไตจะไม่ปรากฏจนกว่าก้อนนิ่วจะเคลื่อนผ่านเข้าไปในท่อไต ซึ่งเป็นท่อที่เชื่อมระหว่างไตกับกระเพาะปัสสาวะ ไปขวางการไหลของปัสสาวะและทำให้ไตบวม โดยคุณอาจรู้สึกบีบเกร็งและเจ็บที่หลังส่วนล่างได้ นอกจากนี้ยังอาจพบสัญญาณอื่นๆ ได้แก่:

  • อาการปวดอย่างรุนแรงและเสียวแปลบที่บริเวณด้านหลังและใต้ซี่โครง
  • เจ็บช่องท้องส่วนล่างจนถึงขาหนีบ
  • การปวดรุนแรงอาจเกิดขึ้นเป็นระยะ
  • รู้สึกเจ็บ หรือแสบร้อนขณะปัสสาวะ

บางกรณีมักมีอาการอื่นๆ  ได้แก่:

  • ปัสสาวะกลายเป็นสีชมพู แดง หรือน้ำตาล
  • ปัสสาวะขุ่นและมีกลิ่นเหม็น
  • ปัสสาวะบ่อยขึ้น
  • มีอาการเวียนหัว คลื่นไส้
  • มีไข้และหนาวสั่นเนื่องจากการติดเชื้อ

ผู้ป่วยบางรายอาจรู้สึกเจ็บในตำแหน่งต่างๆ หรือความเจ็บปวดเพิ่มขึ้นเมื่อนิ่วเคลื่อนตัวในทางเดินปัสสาวะของคุณ

ควรไปพบแพทย์เมื่อไร

หากอาการที่กล่าวถึงข้างต้นทำให้คุณกังวลใจ คุณควรปรึกษาแพทย์ของคุณ และพบแพทย์ทันทีเมื่อ:

  • มีอาการปวดจนไม่สามารถนั่ง หรือ อยู่ในท่าที่สบายได้
  • มีอาการปวดร่วมกับอาการคลื่นไส้และอาเจียน
  • มีอาการปวดร่วมกับมีไข้และหนาวสั่น
  • ปัสสาวะมีเลือดปน
  • มีปัญหาในการปัสสาวะ

สาเหตุของการเกิดนิ่วในไตคืออะไร

นิ่วในไตที่ทางเดินปัสสาวะอาจเกิดได้จากหลายปัจจัย นิ่วจะเกิดเมื่อปัสสาวะมีสารที่ก่อตัวเป็นผลึกมาก เช่น แคลเซียม ออกซาเลต และกรดยูริก นอกจากนี้ นิ่วยังอาจเกิด เมื่อปัสสาวะของคุณขาดสารที่ป้องกันการก่อตัวของผลึกได้อีกด้วย

นิ่วในไตมีกี่ประเภท

เมื่อแพทย์รู้ว่าคุณมีนิ่วในไตประเภทใด จะช่วยให้แพทย์ทราบสาเหตุและวิธีการรักษาไต และสุขภาพของคุณให้กลับมาแข็งแรงได้อีกครั้ง

นิ่วในไตมี 4 ประเภท ดังนี้

  • นิ่วแคลเซียม: นิ่วในไตส่วนใหญ่ประกอบด้วยแคลเซียมออกซาเลต ซึ่งผลิตและดูดซึมทุกวันจากมื้ออาหารของคุณ นอกจากนี้ ผลไม้บางชนิด เช่น ถั่ว ช็อคโกแลต และผักก็มีออกซาเลตสูง ปริมาณวิตามินดีสูงอาจทำให้เกิดการก่อตัวของนิ่วได้เช่นกัน การผ่าตัดบางอย่าง เช่น การผ่าตัดบายพาสลำไส้ สามารถนำไปสู่การก่อตัวของนิ่วได้ ความผิดปกติของเมตาบอลิซึมสามารถเพิ่มความเข้มข้นของแคลเซียมหรือออกซาเลตในปัสสาวะ เช่น ภาวะกรดในท่อไต ภาวะนี้อาจเกี่ยวข้องกับการใช้ยาบางชนิด เช่น โทพิราเมต ในการรักษาไมเกรนหรืออาการชัก นอกจากนี้ แคลเซียมฟอสเฟตซึ่งเป็นนิ่วแคลเซียมอีกรูปแบบหนึ่งที่มักพบได้บ่อยในกระบวนการเผาผลาญของร่างกาย
  • นิ่วสตรูไวท์: นิ่วชนิดนี้เกิดขึ้นจากการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ โดยนิ่วสามารถเพิ่มจำนวนและขยายขนาดได้อย่างรวดเร็ว
  • นิ่วกรดยูริก: นิ่วประเภทนี้เกิดขึ้นเมื่อสูญเสียของเหลวมากเกินไปเนื่องจากสภาวะบางอย่าง เช่น อาการท้องร่วงเรื้อรังหรือการดูดซึมผิดปกติ ผู้ที่รับประทานอาหารที่มีโปรตีนสูงก็มักจะมีนิ่วประเภทนี้เช่นกัน นิ่วยังสามารถเกิดขึ้นได้กับผู้ที่มีปัญหาสุขภาพบางอย่าง เช่น โรคเบาหวาน หรือกลุ่มอาการเมตาบอลิซึม  
  • นิ่วซีสตีน: นิ่วประเภทนี้เกิดขึ้นในผู้ที่มีความผิดปกติทางพันธุกรรมซึ่งเรียกว่า ซีสตีนยูเรีย (Cystinuria) โดยไตของผู้ที่มีเป็นซีสตีนยูเรียจะขับสารซีสตีน (Cysteine) ออกมากเกินไป

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดนิ่วในไตมีอะไรบ้าง

ปัจจัยที่ทำให้เกิดนิ่วในไต ดังนี้

  • ครอบครัวหรือประวัติส่วนตัว: หากสมาชิกในครอบครัวของคุณมีนิ่วในไต คุณก็มีโอกาสเกิดนิ่วในไตได้เช่นกัน และถ้าคุณเคยเป็นนิ่วในไตแล้วอย่างน้อยหนึ่งครั้ง คุณจะมีความเสี่ยงที่จะเกิดนิ่วมากขึ้น
  • การขาดน้ำ: หากคุณดื่มน้ำไม่เพียงพอในแต่ละวัน คุณมีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคนิ่วในไต โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีสภาพอากาศที่ร้อนและแห้ง และผู้ที่มีเหงื่อออกมาก อาจมีโอกาสเป็นนิ่วในไตสูงกว่าคนอื่น
  • อาหารบางชนิด: หากอาหารของคุณมีโซเดียมและน้ำตาลมากเกินไป คุณอาจเป็นโรคนิ่วในไตบางชนิด อาหารที่เค็มเกินไปจะเพิ่มปริมาณแคลเซียมให้ไตต้องกรองออก ดังนั้นอาจเพิ่มความเสี่ยงของการมีนิ่วในไตได้
  • โรคอ้วน: การมีน้ำหนักเกินและมีรอบเอวที่ใหญ่จะเพิ่มโอกาสการเกิดนิ่วในไต
  • โรคทางเดินอาหารและการผ่าตัด: โรคและการผ่าตัดบางชนิด เช่น การผ่าตัดบายพาสกระเพาะอาหาร โรคลำไส้อักเสบ หรืออาการท้องร่วงเรื้อรัง ส่งผลต่อกระบวนการย่อยอาหารซึ่งลดประสิทธิภาพการดูดซึมแคลเซียมและน้ำ จึงทำให้สารตกผลึกในไตเพิ่มปริมาณมากขึ้น
  • เงื่อนไขทางการแพทย์อื่นๆ: ปัญหาสุขภาพบางอย่าง เช่น ภาวะกรดในท่อไต ซิสตินูเรีย และพาราไทรอยด์ สามารถเพิ่มโอกาสในการเกิดนิ่วในไตได้ และการติดเชื้อซ้ำในทางเดินปัสสาวะยังเพิ่มความเสี่ยงของนิ่วในไต
  • อาหารเสริมและยาบางชนิด: การทานวิตามินซี อาหารเสริม และยาลดกรดที่มีแคลเซียมเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นนิ่วในไต การใช้ยาระบายมากเกินไปและการใช้ยาบางชนิดอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นนิ่วได้เช่นกัน

การวินิจฉัยนิ่วในไตเป็นอย่างไร

หากคุณสงสัยว่าจะเป็นนิ่วในไต คุณอาจได้รับคำแนะนำให้เข้ารับการตรวจวินิจฉัยและทำตามขั้นตอนดังนี้:

  • การตรวจเลือด: การตรวจเลือดเพื่อตรวจสอบปริมาณแคลเซียมหรือกรดยูริกในเลือด และสุขภาพของไตของคุณ ซึ่งในส่วนนี้แพทย์จะตรวจด้วยว่าคุณมีปัญหาสุขภาพด้านอื่นๆ หรือไม่
  • การทดสอบปัสสาวะ: การทดสอบจะแสดงปริมาณสารในปัสสาวะที่คุณขับถ่ายต่อวัน คุณอาจถูกขอให้เก็บปัสสาวะเป็นเวลาสองวันติดต่อกัน  
  • การเก็บข้อมูลภาพ: มักมีการนำเอาการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT) มาใช้บ่อยเพราะอาจตรวจพบนิ่วในทางเดินปัสสาวะได้ ในขณะที่การเอ็กซเรย์ช่องท้องแบบธรรมดาไม่ค่อยถูกนำมาใช้ในการตรวจ เพราะอาจไม่พบนิ่วขนาดเล็ก
  • การวิเคราะห์ก้อนนิ่วที่หลุดออกมา : การทดสอบนี้คุณต้องปัสสาวะผ่านเครื่องตรวจจับก้อนนิ่วในปัสสาวะของคุณ จากนั้นนำข้อมูลไปวิเคราะห์สาเหตุของเกิดนิ่วในไต และวิธีการป้องกันนิ่วในไตไม่ให้เพิ่มมากขึ้น

การรักษาโรคนิ่วในไตมีอะไรบ้าง

ประเภทของนิ่วและสาเหตุที่เกิด สามารถช่วยให้แพทย์ระบุวิธีการรักษาที่ถูกต้องสำหรับนิ่วในไตของคุณ:

สำหรับนิ่วขนาดเล็กไม่จำเป็นต้องผ่าตัด สามารถจัดการได้โดย:

  • การดื่มน้ำ: การดื่มน้ำที่แนะนำคือ 1.8 ถึง 3.6 ลิตรต่อวันจะทำให้ปัสสาวะเจือจางและอาจป้องกันไม่ให้นิ่วเกิดขึ้น ตามหลักการแล้ว ดื่มน้ำให้เพียงพอเพื่อให้ปัสสาวะใสหรือเกือบใส เว้นแต่คุณจะได้รับคำแนะนำเป็นอย่างอื่น
  • ยาแก้ปวด: การมีนิ่วในไตทำให้รู้สึกไม่สบายตัว คุณอาจได้รับคำแนะนำให้ทานยาแก้ปวดบางชนิด เช่น ไอบูโพรเฟน หรือนาโพรเซนโซเดียม
  • การรักษาพยาบาล: บางกรณีจำเป็นต้องมีการรักษาทางการแพทย์ เช่น ตัวบล็อกอัลฟาที่ช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อในท่อไต และทำให้นิ่วเจือจางเร็วขึ้นและเจ็บปวดน้อยลง

วิธีป้องกันการกลับเป็นซ้ำของนิ่วในไต

แม้ว่านิ่วในไตจะหายแล้ว แต่ก็สามารถที่จะเกิดขึ้นอีกหากผู้ป่วยยังมีวิถีชีวิตเหมือนเดิม อย่างไรก็ตาม มีข้อแนะนำเพื่อช่วยป้องกันการก่อตัวของนิ่วใหม่หลังการรักษา:

  • ดื่มน้ำมากขึ้น: น้ำเป็นเพื่อนที่ดีที่สุดของไตเสมอ ขอแนะนำให้ดื่มน้ำ 1.8 ถึง 3.6 ลิตรต่อวันเพื่อเจือจางปัสสาวะและเพื่อป้องกันไม่ให้นิ่วเกิดขึ้นอีก
  • ทานเนื้อสัตว์ให้น้อยลง: โปรตีนจากสัตว์ทะเลบางชนิดอาจทำให้กรดยูริกสะสมในปัสสาวะและก่อตัวเป็นนิ่วได้
  • ควรหลีกเลี่ยงผักบางชนิด: อาหารจากพืชบางชนิด เช่น ผักชีฝรั่ง ผักโขม และหัวบีตมีสารที่เรียกว่าออกซาเลตที่ช่วยในการสร้างนิ่ว แพทย์ของคุณอาจแนะนำให้คุณหลีกเลี่ยงอาหารเหล่านี้
  • แคลเซียมและแมกนีเซียมช่วยลดระดับออกซาเลตในปัสสาวะของคุณ: ปริมาณที่แนะนำคือแคลเซียมอย่างน้อย 1,000 มก. และแมกนีเซียม 360 มก. สำหรับผู้หญิง และ 450 มก. สำหรับผู้ชายต่อวัน โดยแหล่งแร่ธาตุที่ดีที่สุดมาจากอาหารธรรมชาติ ที่ไม่ผ่านการแปรรูป
  • สังเกตบริโภคโซเดียมของคุณ: การบริโภคโซเดียมมากเกินไปจะเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดนิ่ว อาหารที่มีโซเดียมสูงเป็นอาหารแปรรูปและอาหารในร้านอาหาร ขอแนะนำให้ทานอาหารที่ปรุงเองที่บ้าน เนื่องจากคุณสามารถหลีกเลี่ยงไม่ให้มีเกลือมากเกินไปในสูตรอาหารของคุณ

ผู้ป่วยควรระวังการใช้ชีวิตเพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดนิ่วในไตขึ้นอีกครั้ง หรือป้องกันไม่ให้นิ่วที่มีอยู่กลายเป็นก้อนใหญ่ขึ้น ปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุของนิ่ว โดยแพทย์ของคุณอาจขอให้คุณตรวจเลือดและตรวจปัสสาวะ เพื่อนำข้อมูลจากการทดสอบมาให้คำแนะนำเกี่ยวกับอาหารของคุณได้เหมาะสม

เตรียมความพร้อมสำหรับการนัดหมายของคุณ:

ก่อนพบแพทย์ คุณควรเตรียมข้อมูลเกี่ยวกับอาการของคุณ ปริมาณน้ำที่คุณดื่ม และปริมาณปัสสาวะ ตลอดจนยาทั้งหมด และคำถามต่างๆ ที่จะถามกับแพทย์ของคุณ

สิ่งที่คุณต้องเจอเมื่อพบแพทย์

คุณอาจถูกถามคำถามหลายชุด เช่น อาการคุณเริ่มต้นเมื่อไร อาการของคุณรุนแรงแค่ไหน หรือสมาชิกในครอบครัวของคุณเป็นโรคนี้หรือไม่

ประวัติเจ้าของบทความ

พรภินันท์ พุทธชาติ เป็นนักแปลอาชีพสายกฏหมายและการแพทย์ เชี่ยวชาญพิเศษด้านการแปลสายวรรณกรรม บทความการตลาด และข่าวต่าง ๆ ปัจจุบันเป็น นักแปลและติวเตอร์ภาษาอังกฤษ

14/06/2021
บทความที่เกี่ยวข้อง
CHECKSUKKAPHAP.COM
เลขที่ 598 ชั้น 6 ถนนเพลินจิต ลุมพินี ปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330
095-515-9229
ข้อกำหนดและเงื่อนไข ความเป็นส่วนตัว