เช็คสุขภาพ : ที่นี่ ... มีคำตอบให้ทุกคำถามเกี่ยวกับสุขภาพของท่าน
หน้าแรก / บทความ / อาการปวดหลัง (Back Pain) สาเหตุ อาการและวิธีรักษา
โดย : ไตรภพ วิยะรัตน์
ทบทวนบทความโดย : ทีมเช็คสุขภาพ
อาการปวดหลัง (Back Pain) สาเหตุ อาการและวิธีรักษา

แน่นอนว่า ทุกคนคงเคยมีอาการปวดหลัง (Back Pain) กันมาบ้าง อาการปวดหลังเป็นหนึ่งในหลาย ๆ สาเหตุที่ทำให้คนไปหาหมอที่โรงพยาบาล

อาการและอาการแสดงของอาการปวดหลังเป็นอย่างไร

อาการและอาการแสดงของอาการปวดหลังอาจแตกต่างกันไปตามสาเหตุของอาการปวดหลัง ได้แก่

  • มีอาการปวดกล้ามเนื้อ
  • มีอาการปวดแปลบหรือปวดเหมือนถูกแทง
  • มีอาการปวดร้าวลงขา
  • ปวดหลังมากขึ้นเมื่อก้ม ยกของ ยืน หรือเดิน
  • มีอาการขาอ่อนแรง โดยเฉพาะเวลากระดกนิ้วหัวแม่เท้าหรือเหยียดข้อเท้า

เมื่อใดที่ควรไปพบแพทย์

การรักษาเบื้องต้นด้วยตัวเองที่บ้านอาจช่วยให้อาการปวดหลังค่อย ๆ ทุเลาลงได้ภายในหนึ่งสัปดาห์หรืออาจนานกว่านั้น และอาการปวดยังสามารถทุเลาลงได้ด้วยการนอนราบ อย่างไรก็ตาม ถ้าหากลองรักษาด้วยตัวเองเบื้องต้นที่บ้านแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น แนะนำให้ไปปรึกษาแพทย์ ในบางกรณีที่พบไม่บ่อย อาการปวดหลังอาจเป็นสัญญาณของโรคร้ายบางอย่าง ให้ปรึกษาแพทย์หากคุณมีอาการดังต่อไปนี้

  • หยุดพักแล้ว แต่อาการปวดหลังยังไม่ดีขึ้น
  • ในกรณีร้ายแรง อาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น มีความผิดปกติของลำไส้และกระเพาะปัสสาวะ
  • มีไข้ในกรณีที่อาการปวดหลังมีสาเหตุจากการติดเชื้อ
  • มีอาการปวดหลังจากการหกล้มบาดเจ็บ
  • มีอาการชา โดยเฉพาะบริเวณง่ามนิ้วหัวแม่เท้า ส้นเท้า หรือน่องส่วนที่อยู่ฝั่งเดียวกับตาตุ่มด้านนอก
  • มีอาการอ่อนแรงของนิ้วเท้าและข้อเท้า

ปรึกษาแพทย์ถ้าหากว่าอาการปวดมีลักษณะดังต่อไปนี้

  • อาการปวดรุนแรงหรือไม่ดีขึ้นทั้งๆ ที่ได้รักษาเบื้องต้นที่บ้านแล้ว
  • มีอาการปวดร้าว ลงไปที่ขาข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีอาการปวดร้าวลงไปถึงใต้เข่า
  • ส่งผลให้เกิดอาการอ่อนแรง ชา หรือปวดชาคล้ายเข็มทิ่ม ที่ขาข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง
  • ถ้าคุณมีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไปแล้วมีอาการปวดหลังเป็นครั้งแรก ขอแนะนำให้คุณปรึกษาแพทย์ของคุณ และเมื่อคุณมีอาการปวดหลังโดยที่คุณมีประวัติเป็นโรคมะเร็งและโรคกระดูกพรุนมาก่อน คุณก็ควรไปพบแพทย์เช่นกัน

อาการปวดหลังเกิดจากอะไร

อาการปวดหลังที่เกิดขึ้นอย่างทันทีทันใดเรียกว่า อาการปวดหลังแบบเฉียบพลัน ส่วนมากเกิดจากการหกล้มหรือยกของหนัก อาการปวดหลังประเภทนี้โดยปกติจะหายได้เองภายในหกสัปดาห์ ในขณะเดียวกัน อาการปวดหลังเรื้อรังนั้นพบได้น้อยกว่าแบบเฉียบพลัน และจะเป็นอยู่นานมากกว่าสามเดือน โดยปกติอาการปวดหลังจะค่อยๆ เป็นมากขึ้นโดยไม่มีสาเหตุ อย่างไรก็ตาม สามารถหาสาเหตุโดยการให้แพทย์ตรวจ หรือให้นักรังสีเทคนิคถ่ายภาพเอ็กซ์เรย์ให้รังสีแพทย์อ่านผล โรคอื่นที่เกี่ยวข้องกับอาการปวดหลัง ได้แก่

  • โรคกระดูกพรุน คือ โรคกระดูกซึ่งเกิดจากการที่ร่างกายของคุณสร้างกระดูกได้น้อยลงหรือมีการสูญเสียมวลกระดูกมากเกินไป หรืออาจเกิดจากทั้งสองสาเหตุร่วมกัน และเมื่อกระดูกของคุณมีรูพรุนและเปราะ สามารถทำให้เกิดภาวะกระดูกสันหลังยุบตัวได้ในเวลาต่อมา และนำไปสู่อาการปวดหลัง
  • กล้ามเนื้อหรือเส้นเอ็นฉีกขาด เมื่อคุณเคลื่อนไหวเร็วเกินไปหรือยกของหนักบ่อยๆ อาจทำให้กล้ามเนื้อและเส้นเอ็นของกระดูกสันหลังฉีกขาด ทำให้มีอาการปวดได้ และหากร่างกายของคุณไม่แข็งแรง การฉีกขาดอาจทำให้กล้ามเนื้อหดเกร็งและปวดอย่างรุนแรง
  • หมอนรองกระดูกสันหลังโป่งนูนหรือแตก โดยปกติหมอนรองกระดูกจะทำหน้าที่เชื่อมกระดูกสันหลังแต่ละชิ้นของคุณเข้าไว้ด้วยกัน แต่เนื้อเยื่ออ่อนที่อยู่ภายในหมอนรองกระดูกมีโอกาสจะแตกหรือปลิ้นออกมากดทับเส้นประสาทได้
  • ข้ออักเสบ โรคข้ออักเสบ คือ การบวมของข้อต่อของคุณตั้งแต่หนึ่งข้อขึ้นไป ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ที่หลังส่วนล่าง โรคข้ออักเสบอาจทำให้ช่องว่างรอบๆ ไขสันหลังแคบลงหรือเรียกว่า การตีบ (Stenosis) ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการปวดหลังได้
  • ความผิดปกติของโครงกระดูก กระดูกสันหลังคด (Scoliosis) คือ ภาวะที่กระดูกสันหลังของคุณคดงอไปทางฝั่งใดฝั่งหนึ่ง ทำให้ผู้ที่มีกระดูกสันหลังผิดปกตินี้มีอาการปวดหลังได้

ปัจจัยเสี่ยงของอาการปวดหลังคืออะไรบ้าง

  • แม้แต่คนที่อายุน้อย เช่น เด็กและวัยรุ่น ก็สามารถมีอาการปวดหลังได้ ปัจจัยเสี่ยงของอาการปวดหลังมีอะไรบ้าง
  • อายุ เมื่อคุณมีอายุตั้งแต่ประมาณ 30 ปีขึ้นไป มีโอกาสอย่างมากที่คุณจะมีอาการปวดหลังส่วนล่าง
  • การไม่ออกกำลังกาย กล้ามเนื้อหน้าท้องและกล้ามเนื้อหลังที่อ่อนแออาจทำให้เกิดอาการปวดหลังได้
  • โรคอ้วน น้ำหนักตัวที่มากเกินไปอาจทำให้เกิดอาการปวดหลังได้
  • โรคอื่น ๆ หากคุณเป็นโรคข้ออักเสบและมะเร็งบางชนิดอยู่เดิม อาจทำให้คุณมีอาการปวดหลังได้
  • การยกของหนัก การที่คุณ[Sic]ใช้งานของหนักด้วยการออกแรงที่หลังแทนที่จะใช้ขาอาจจะทำให้ปวดหลังได้
  • สภาพจิตใจ ผู้ที่มีภาวะซึมเศร้าและวิตกกังวลมีแนวโน้มที่จะมีอาการปวดหลัง
  • การสูบบุหรี่ การสูบบุหรี่ทำให้การซ่อมแซมร่างกายช้าลง เนื่องจากการไหลเวียนของเลือดที่นำสารอาหารไปเลี้ยงหมอนรองกระดูกที่หลังมีปริมาณน้อยลง และทำให้เกิดอาการปวดหลังในที่สุด

วินิจฉัยอาการปวดหลังได้อย่างไร

เมื่อไปโรงพยาบาล แพทย์จะตรวจและประเมินหลังของคุณ แพทย์จะประเมินสมรรถภาพการเคลื่อนไหวร่างกายในท่าต่างๆ เช่น นั่ง ยืน เดิน และยกขา แพทย์จะให้คุณประเมินความรุนแรงของอาการปวดหลังของคุณเป็นคะแนนตั้งแต่ 0 ถึง 10 แพทย์จะถามคุณด้วยว่าสามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้ดีแค่ไหนในขณะที่มีอาการปวด การประเมินนี้จะช่วยให้แพทย์ระบุได้ว่าอาการปวดมาจากไหน โดยดูว่าคุณขยับได้แค่ไหนจึงจะมีอาการปวด และดูว่ากล้ามเนื้อหลังของคุณมีการหดเกร็งหรือไม่

ในกรณีที่จำเป็น แพทย์ของคุณอาจขอให้คุณเข้ารับการตรวจเพิ่มเติมอีกเล็กน้อย เช่น

  • เอ็กซ์เรย์ ภาพถ่ายรังสีช่วยให้แพทย์ของคุณตรวจสอบได้ว่าคุณมีโรคข้ออักเสบหรือกระดูกหักที่อาจเป็นสาเหตุหรือไม่
  • การสแกนด้วยเครื่อง เอ็มอาร์ไอ หรือ เอ็กซ์เรย์คอมพิวเตอร์ วิธีนี้จะช่วยให้แพทย์ดูได้ว่าคุณมีหมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาท หรือ มีปัญหาที่กระดูก กล้ามเนื้อ เนื้อเยื่อ หรือเส้นเอ็นหรือไม่ แพทย์ของคุณอาจต้องตรวจดูความผิดปกติที่เส้นประสาท เส้นเอ็น และหลอดเลือดด้วย
  • การตรวจเลือด การตรวจนี้ช่วยให้แพทย์ของคุณตรวจสอบได้ว่าคุณมีการติดเชื้อที่อาจเป็นสาเหตุของการปวดหลังหรือไม่
  • การตรวจสแกนกระดูก การสแกนช่วยให้แพทย์ของคุณทราบว่าคุณมีเนื้องอกกระดูกหรือกระดูกสันหลังยุบตัว ที่อาจทำให้ปวดหลังหรือไม่
  • การตรวจความเร็วการนำกระแสประสาท (NCV) และ การตรวจคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ (EMG) แพทย์อาจให้คุณเข้ารับการตรวจคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ (EMG) เพื่อวัดแรงกระตุ้นไฟฟ้าที่เส้นประสาทและการตอบสนองของกล้ามเนื้อ การตรวจนี้จะช่วยให้เราทราบว่ามีการกดทับเส้นประสาทที่เกิดจากหมอนรองกระดูกเคลื่อนหรือโพรงกระดูกสันหลังตีบแคบหรือไม่

อาการปวดหลังรักษาได้อย่างไรบ้าง

อาการปวดหลังแบบเฉียบพลันส่วนมากจะทุเลาลงได้ด้วยการรักษาเบื้องต้นที่บ้าน ยาแก้ปวดที่มีขายตามร้านขายยาก็สามารถใช้บรรเทาอาการปวดหลังเฉียบพลันได้ และคุณสามารถใช้การประคบร้อนช่วยบรรเทาปวดได้เช่นกัน

คุณอาจจะทำกิจวัตรแบบเดิมได้เท่าที่คุณทำไหว อย่างไรก็ตาม ขอแนะนำให้ทำกิจกรรมเบาๆ เช่น การเดินหรือกิจวัตรประจำวันอื่นๆ แพทย์อาจแนะนำให้คุณหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ทำให้ปวดหลังมากขึ้น หากคุณรักษาเบื้องต้นที่บ้านแล้วไม่ดีขึ้น แพทย์อาจจ่ายยาที่แรงขึ้นให้คุณ หรืออาจให้เปลี่ยนวิธีการรักษาใหม่


ยาที่ใช้รักษาอาการปวดหลังมีอะไรบ้าง

แพทย์ของคุณอาจแนะนำให้ใช้ยาดังต่อไปนี้

  • ยาแก้ปวด แพทย์ของคุณอาจแนะนำให้คุณทานยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) เช่น ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) หรือ นาพรอกเซน (Naproxen) เพื่อบรรเทาอาการปวดเฉียบพลัน ยาเหล่านี้ควรได้รับการสั่งจ่ายโดยแพทย์ และขอแนะนำให้คุณปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด จำไว้ว่าการใช้ยามากเกินไปอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่ร้ายแรงได้
  • ยาคลายกล้ามเนื้อ หากอาการปวดหลังเล็กน้อยถึงปานกลางไม่ดีขึ้นหลังจากได้ยาแก้ปวด แพทย์อาจให้คุณใช้ยาคลายกล้ามเนื้อ จำไว้ว่าการคลายกล้ามเนื้ออาจทำให้เกิดอาการวิงเวียนศีรษะและง่วงนอนได้
  • ยาแก้ปวดเฉพาะที่ ทาครีมหรือขี้ผึ้งเหล่านี้บนผิวของคุณ และถูบริเวณที่มีอาการปวด
  • ยาแก้ปวดชนิดเสพติด แพทย์อาจสั่งยาที่เป็นสารสกัดจากฝิ่น เช่น ออกซิโคโดน (Oxycodone) หรือ ไฮโดรโคโดน (Hydrocodone) อย่างไรก็ตาม ยากลุ่มนี้ใช้ไม่ค่อยได้ผลกับอาการปวดเรื้อรัง
  • ยาแก้ซึมเศร้า แพทย์ของคุณอาจสั่งยาแก้ซึมเศร้าบางตัวในขนาดยาต่ำๆ ซึ่งอาจช่วยบรรเทาอาการปวดหลังเรื้อรังบางชนิดได้
  • การฉีดยา แพทย์อาจเลือกใช้การฉีดคอร์ติโซนซึ่งเป็นยาต้านการอักเสบที่บริเวณรอบไขสันหลังของคุณ การฉีดยานี้จะช่วยลดการอักเสบบริเวณรากประสาท อย่างไรก็ตาม มันมีฤทธิ์อยู่แค่ไม่กี่เดือนเท่านั้น

การกายภาพบำบัดและการออกกำลังกาย

นักกายภาพบำบัดอาจใช้การรักษาหลายหลายวิธี เช่น ใช้ความร้อน อัลตราซาวนด์ และการกระตุ้นด้วยไฟฟ้า วิธีการรักษาเหล่านี้อาจถูกนำมาใช้บรรเทาอาการปวดที่กล้ามเนื้อและเนื้อเยื่ออ่อนที่หลังของคุณ หลังจากนั้น นักกายภาพบำบัดของคุณอาจจะสอนวิธีออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่น และเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหลังและหน้าท้องของคุณด้วย การรักษาที่ถูกต้องอาจช่วยปรับท่าทางของคุณและป้องกันการกลับมาปวดซ้ำ ถ้าทำอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ

การผ่าตัด

การผ่าตัดควรเป็นทางเลือกสุดท้ายสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการปวดหลัง แพทย์อาจแนะนำให้คุณผ่าตัด ถ้าหากอาการปวดแย่ลงหรือมีการปวดร้าวไปที่ขาข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง โดยทั่วไป การผ่าตัดจะใช้รักษาได้เฉพาะอาการปวดหลังที่เกิดจากความผิดปกติเชิงโครงสร้างของร่างกายคุณ เช่น การตีบแคบของช่องกระดูกสันหลัง หรือ หมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาท ที่รักษาไม่หาย 

การเตรียมความพร้อมก่อนพบแพทย์

ก่อนพบแพทย์ ขอแนะนำให้เตรียมข้อมูลเกี่ยวกับอาการที่เป็น ยาทั้งหมดที่ใช้ รวมถึงเตรียมคำถามที่ต้องการจะถามแพทย์ ฯลฯ

แพทย์จะทำอะไรบ้าง

แพทย์อาจซักถามอย่างละเอียด เช่น เริ่มมีอาการตั้งแต่เมื่อใด อาการรุนแรงแค่ไหน หรือสมาชิกในครอบครัวมีอาการแบบนี้หรือไม่ เป็นต้น  

ประวัติเจ้าของบทความ

ไตรภพ วิยะรัตน์ เป็นเป็นนักแปลอาชีพสายกฎหมายและการแพทย์ เคยผ่านการศึกษาและฝึกปฏิบัติงานในวงการวิทยาศาสตร์สุขภาพมาประมาณ 6 ปี ทำให้มีความคุ้นเคยกับความรู้รวมถึงคำศัพท์ในแวดวงวิทยาศาสตร์สุขภาพ นอกจากนั้นยังเคยทำหน้าที่แปลข่าวและบทความกีฬาฟุตบอลต่างประเทศ จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะมนุษยศาสตร์ สาขาภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยนเรศวร

14/06/2021
บทความที่เกี่ยวข้อง
CHECKSUKKAPHAP.COM
เลขที่ 598 ชั้น 6 ถนนเพลินจิต ลุมพินี ปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330
095-515-9229
ข้อกำหนดและเงื่อนไข ความเป็นส่วนตัว