เช็คสุขภาพ : ที่นี่ ... มีคำตอบให้ทุกคำถามเกี่ยวกับสุขภาพของท่าน
หน้าแรก / บทความ / โรคเบาจืด (Diabetes Insipidus): อาการ สาเหตุและการรักษา
โดย : อธิจิตรา วงษ์สวรรค์
ทบทวนบทความโดย : ทีมเช็คสุขภาพ
โรคเบาจืด (Diabetes Insipidus): อาการ สาเหตุและการรักษา

โรคเบาจืด (Diabetes Insipidus) เป็นภาวะที่ส่งผลให้ผู้ป่วยปัสสาวะบ่อยและกระหายน้ำอย่างรุนแรง นอนไม่หลับในเวลากลางคืนเพราะต้องลุกขึ้นมาปัสสาวะหรืออาจปัสสาวะรดที่นอน อาการจะคล้ายคลึงกับโรคเบาหวานแต่ต่างกันที่สาเหตุของโรค กล่าวคือ โรคเบาหวานเกิดจากความผิดปกติของร่างกายที่ผลิตฮอร์โมนอินซูลินได้ไม่เพียงพอ ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง ในขณะที่โรคเบาจืดเกิดจากความผิดปกติของไตในการจัดการปัสสาวะ ซึ่งทั้งสองโรคนี้ไม่มีความเกี่ยวข้องกัน

สัญญาณและอาการของโรค

สัญญาณและอาการที่พบบ่อยที่สุดคือปัสสาวะบ่อยและกระหายน้ำอย่างรุนแรง อาการอื่นๆ ได้แก่ ปัสสาวะมีลักษณะเจือจางและใส ปัสสาวะบ่อยในเวลากลางคืน ปัสสาวะรดที่นอน ในเด็กและทารก อาจมีไข้สูง อาเจียนหรือท้องเสีย ปัสสาวะล้นผ้าอ้อม อัตราการเติบโตช้า น้ำหนักลด หงุดหงิดง่ายหรือร้องไห้ผิดปกติ ผิวแห้ง แขนขาเย็น

สาเหตุของโรค

โรคเบาจืดอาจเกิดจากความผิดปกติของต่อมใต้สมองหรือความผิดปกติของไต โดยปกติ ร่างกายจะควบคุมความสมดุลของปริมาณของเหลวที่เราดื่มและปริมาณปัสสาวะที่จะขับออกมา ไตจะขับของเหลวส่วนเกินออกทางปัสสาวะซึ่งเก็บอยู่ชั่วคราวในกระเพาะปัสสาวะ เมื่อเราขาดน้ำ ต่อมใต้สมองจะหลั่งฮอร์โมนแอนติไดยูเรติก (Antidiuretic hormone : ADH) เพื่อให้ไตกักเก็บของเหลวไว้และปัสสาวะน้อยลง ฮอร์โมนแอนติไดยูเรติกหรือวาโซเพรสซิน (Vasopressin) เป็นฮอร์โมนที่ผลิตที่ไฮโปธาลามัสแล้วนำมาเก็บไว้ในต่อมใต้สมอง

โรคเบาจืดแบ่งได้หลายชนิดตามสาเหตุ ได้แก่ 1.ชนิดที่เกิดจากความผิดปกติของสมอง (Central diabetes insipidus) เกิดจากความเสียหายของสมองส่วนไฮโปทาลามัสหรือต่อมใต้สมองทำให้ไม่สามารถสะสมและหลั่งฮอร์โมนแอนติไดยูเรติกได้เป็นปกติ ซึ่งอาจเกิดจากการผ่าตัด เนื้องอก โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ความผิดปกติทางพันธุกรรมหรือการบาดเจ็บที่ศีรษะ 2.ชนิดที่เกิดจากความผิดปกติของไต (Nephrogenic diabetes insipidus) ซึ่งอาจเกิดจากโรคทางพันธุกรรม โรคไตเรื้อรังหรือการใช้ยาบางชนิดที่ทำให้หลอดไตเสียหายเช่น ลิเทียมและเดเมโคลไซคลีน 3.ชนิดที่เกิดขึ้นระหว่างตั้งครรภ์ (Gestational diabetes insipidus) 4.ชนิดที่เกิดจากความผิดปกติของกลไกควบคุมการกระหายน้ำ (Dipsogenic diabetes insipidus) หรือความผิดปกติทางจิตที่ชอบดื่มน้ำมากกว่าปกติ (Psychogenic diabetes insipidus) ผู้ป่วยจะดื่มน้ำมากในปริมาณมากเกินไป ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับปัญหาของการผลิตหรือตอบสนองต่อฮอร์โมนแอนติไดยูเรติก

วิธีการรักษา

  • หากสาเหตุของโรคเกิดจากการขาดฮอร์โมนแอนติไดยูเรติก แพทย์จะสั่งให้ใช้ฮอร์โมนสังเคราะห์ชื่อเดสโมเพรสซิน (Desmopressin) ซึ่งอาจเป็นชนิดพ่นจมูก ยารับประทานหรือยาฉีด 
  • หากสาเหตุของโรคเกิดจากความผิดปกติของไต แพทย์จะสั่งจ่ายยาขับปัสสาวะชื่อไฮโดรคลอโรไทเอไซด์ (Hydrochlorothiazide) หรืออาจใช้ยาอื่นร่วมด้วย หรืออาจแนะนำให้รับประทานอาหารที่มีโซเดียมต่ำ
  • การรักษาที่ต้นเหตุ หากสาเหตุของโรคเกิดจากผลข้างเคียงจากยาบางชนิด แพทย์จะเปลี่ยนยานั้น หากเกิดจากอาการทางจิต แพทย์จะรักษาอาการทางจิตก่อน หรือหากเกิดจากเนื้องอก แพทย์พิจารณาผ่าตัดเนื้องอกนั้นออก

ประวัตินักแปล

อธิจิตรา วงษ์สวรรค์ จบการศึกษาระดับปริญญาตรี (เกียรตินิยม) เอกภาษาอังกฤษ โทภาษาฝรั่งเศส จากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปริญญาโท สาขาการแปล จากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผ่านการอบรมหลักสูตรล่ามชุมชนในบริบทวิชาชีพและหลักสูตรการแปลเอกสารภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย (Intermediate Level) ของสมาคมวิชาชีพนักแปลและล่ามแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

อธิจิตรา มีประสบการณ์ในการแปลเอกสารสัญญา เอกสารทางวิศวกรรมและเครื่องจักร สารานุกรมนโยบายยาเสพติด แปลข่าว กิจกรรมและบทความด้านการบินของสถาบันการบินพลเรือน นอกจากนี้ยังเป็น Voice Model เสียงภาษาไทยในซอฟต์แวร์แปลงข้อความเป็นเสียงพูด (Text-to-Speech) ภายใต้ชื่อ “NARISA” ในระบบปฏิบัติการ IOS และ Android 

ปัจจุบัน อธิจิตรา เป็นนักแปลและล่ามอาชีพสายกฎหมายและการแพทย์

28/11/2021
บทความที่เกี่ยวข้อง
CHECKSUKKAPHAP.COM
เลขที่ 598 ชั้น 6 ถนนเพลินจิต ลุมพินี ปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330
095-515-9229
ข้อกำหนดและเงื่อนไข ความเป็นส่วนตัว