เช็คสุขภาพ : ที่นี่ ... มีคำตอบให้ทุกคำถามเกี่ยวกับสุขภาพของท่าน
หน้าแรก / บทความ / โรคบาดทะยัก (Tetanus): อาการ สาเหตุและการรักษา
โดย : สุธิณี อึงขจรศักดิ์
ทบทวนบทความโดย : ทีมเช็คสุขภาพ
โรคบาดทะยัก (Tetanus): อาการ สาเหตุและการรักษา

โรคบาดทะยักต่างจากโรคที่สามารถป้องกันได้โดยการฉีดวัคซีนโรคอื่น ๆ เพราะโรคนี้ไม่แพร่ระบาดจากคนสู่คน เชื้อแบคทีเรียก่อโรคพบได้ในดิน,ฝุ่น และ ปุ๋ยมูลสัตว์ เชื้อโรคจะเข้าสู่ร่างกายผ่านทางรอยฉีกขาดบนผิวหนัง โดยทั่วไปก็คือแผลจากของมีคมบาดลึกหรือบาดแผลถูกแทงจากวัตถุที่เชื้อโรคปนเปื้อนติดอยู่

อาการแสดงโรคและอาการในผู้ป่วย

อาการที่พบในผู้ป่วยประกอบด้วย ปวดหัว, ขากรรไกรแข็ง, อาการหดเกร็งของกล้ามเนื้อโดยควบคุมไม่ได้ พบบ่อยบริเวณกล้ามเนื้อช่องท้อง, เจ็บปวดเนื่องจากกล้ามเนื้อหดเกร็งทั้งตัว, ปัญหาการกลืน กลืนลำบาก, อาการกระตุก หรือตาถลึงค้าง (อาการชัก), มีไข้ เหงื่อออก, ความดันเลือดสูงและอัตราหัวใจเต้นเร็ว

การวินิจฉัยโรคและการตรวจรักษา

แพทย์จะตรวจวินิจฉัยคนไข้ รวมทั้งสังเกตอาการแสดงและอาการของโรค ยังไม่มีการตรวจใด ๆ ตามห้องตรวจปฎิบัติการในโรงพยาบาลที่จะสามารถยืนยันผลการติดเชื้อโรคบาดทะยักได้ โรคบาดทะยักเป็นโรคที่ต้องได้รับการตรวจรักษาทางการแพทย์อย่างเร่งด่วน 

การรักษาโรคทำโดย ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล รักษาอย่างเร่งด่วนด้วยการให้ยาฮิวแมนทีทานัส อิมมูนโกลบูลิน หรือ เอควิอีน แอนตี้ท็อกซิน, รับวัคซีนป้องกันโรคบาดทะยัก, ให้ยาเพื่อควบคุมอาการกล้ามเนื้อชักกระตุก, การตัดแต่งบาดแผล, การให้ยาปฏิชีวนะ หากผู้ป่วยมีอาการติดเชื้ออย่างรุนแรงอาจจำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจร่วมด้วย ผู้ป่วยควรได้รับวัคซีนป้องกันโรคบาดทะยักในระหว่างเข้ารับการรักษาด้วย

การป้องกันและข้อแนะนำอื่น ๆ

ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจรักษาทันทีที่มีแผลจากของมีคมบาด หรือเกิดบาดแผลจากวัตถุติดเชื้อต่าง ๆ การได้รับวัคซีนป้องกันโรคครบจำนวนคือวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันโรค วัคซีนนี้ใช้ได้กับคนทุกวัยและควรจะได้รับวัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกันตามระยะเวลากำหนดอย่างสม่ำเสมอตลอดชีวิต การทำความสะอาดแผลอย่างถูกวิธีทันทีที่เกิดบาดแผลจะช่วยป้องกันการติดเชื้อได้ ผู้เคยเป็นโรคบาดทะยักแล้ว มีโอกาศเป็นโรคนี้ซ้ำได้อีกเช่นกันถ้าไม่ได้รับวัคซีนป้องกันตามระยะเวลาที่กำหนดไว้

การป้องกันเชื้อบาดทะยักภายหลังเหตุการณ์ภัยธรรมชาติ  โดยมากนั้นภัยธรรมชาติไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคบาดทะยัก อย่างไรก็ดีการลดความเสี่ยงให้เหลือน้อยที่สุดสำหรับผู้รอดชีวิตจากภัยพิบัติและหน่วยกู้ภัยฉุกเฉิน ทำได้โดยดำเนินการตามคำแนะนำเรื่องมาตรฐานการรับวัคซีนป้องกันโรคและจัดให้มีการทำความสะอาดดูแลบาดแผลอย่างถูกต้องเหมาะสม

แหล่งอ้างอิง:

http://www.cdc.gov/vaccines/vpd-vac/tetanus/

https://www.cigna.co.th/health-wellness/tip/tetanus

http://odpc3.ddc.moph.go.th/datacenter/communicate/know_condetail.php?id=7

https://www.medparkhospital.com/content/tetanus

เกี่ยวกับนักแปล

สุธิณี อึงขจรศักดิ์ จบหลักสูตร Diploma of Interpreting (LOTE-English) สนใจด้านการแปลเอกสารจึงสมัครเข้าอบรม “การแปลเอกสารจากภาษาอังกฤษเป็นไทย รุ่นที่ 3” (Intermediate Level) กับ SEAProTI 

ปัจจุบัน สุธิณี อึงขจรศักดิ์ เป็นครูอาสาสอนภาษาอังกฤษ ให้กับ Melbourne  AMEP และยังเป็นนักแปลและล่ามอาชีพสายกฎหมายและการแพทย์อีกด้วย

02/03/2022
บทความที่เกี่ยวข้อง
CHECKSUKKAPHAP.COM
เลขที่ 598 ชั้น 6 ถนนเพลินจิต ลุมพินี ปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330
095-515-9229
ข้อกำหนดและเงื่อนไข ความเป็นส่วนตัว