เช็คสุขภาพ : ที่นี่ ... มีคำตอบให้ทุกคำถามเกี่ยวกับสุขภาพของท่าน
หน้าแรก / บทความ / กลิ่นปาก: สาเหตุ อาการและการรักษา
โดย : วัฒนาวดี เอื้ออารักษ์
ทบทวนบทความโดย : ทีมเช็คสุขภาพ
กลิ่นปาก: สาเหตุ อาการและการรักษา

กลิ่นปากหรือ Halitosis เป็นภาวะไม่พึงประสงค์ที่ทำให้เกิดความอับอายและเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ กลิ่นปากจะมีความแตกต่างกันไปตามแต่ต้นเหตุหรือสาเหตุที่แท้จริง นอกจากนี้ การประเมินกลิ่นลมหายใจของตัวเองยังเป็นเรื่องยาก ทำให้บางท่านที่มีกลิ่นปากเล็กน้อยหรือไม่มีเลย อาจกังวลมากเกินไป ในขณะที่อีกหลายท่านอาจไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่ามีกลิ่นปาก ดังนั้น ญาติหรือเพื่อนสนิทอาจช่วยยืนยันเรื่องกลิ่นปากให้ท่านคลายความสงสัยได้

การดูแลรักษา
ปัญหากลิ่นปากหลายกรณีสามารถดูแลรักษาด้วยตัวเองได้ โดยปรับเปลี่ยนความเคยชินในการรักษาสุขอนามัยของช่องปาก พร้อมทั้งหลีกเลี่ยงบุหรี่, เครื่องดื่มแอลกอฮอล์, อาหารที่มีกลิ่นฉุน อาทิ กระเทียม, หัวหอม และ กาแฟ รวมถึงรับประทานพาร์สลี่ย์ (Parsley) และมินต์ (Mint) เพื่อดับกลิ่นปากชั่วคราว หากปรับเปลี่ยนแล้วยังมีกลิ่นปากเช่นเดิม ควรพบทันตแพทย์ซึ่งจะช่วยระบุสาเหตุและวินิจฉัยการรักษาได้ดีที่สุด รวมถึงอาจส่งต่อท่านให้แพทย์ตรวจหาสาเหตุของกลิ่นปากไม่พึงประสงค์ถ้าสงสัยว่าอาจเกิดจากภาวะอาการที่ร้ายแรงกว่านั้น

การลดหรือป้องกันกลิ่นปาก
- แปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง และโดยเฉพาะหลังอาหาร ด้วยยาสีฟันที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์ หรือยาสีฟันที่มีคุณสมบัติยับยั้งแบคทีเรียซึ่งมีผลปรากฏว่าสามารถลดกลิ่นปากไม่พึงประสงค์ได้ และควรมีแปรงสีฟันไว้ประจำที่ทำงานสำหรับใช้แปรงฟันหลังอาหาร
- ใช้ไหมขัดฟันวันละครั้งเป็นอย่างน้อย การขัดฟันอย่างถูกวิธีจะช่วยขจัดเศษอาหารและคราบจุลินทรีย์ (Plaque) ในร่องฟัน ซึ่งช่วยควบคุมปัญหากลิ่นปากได้
- ลิ้นเป็นแหล่งสะสมแบคทีเรีย ดังนั้น ผู้ที่มีแบคทีเรียเจริญเติบโตมากผิดปกติบนลิ้น (เช่น จากการสูบบุหรี่ หรือปากแห้ง) อาจลดกลิ่นปากไม่พึงประสงค์ได้ด้วยการแปรงลิ้นอย่างพิถีพิถัน โดยใช้ที่ขูดลิ้น (Tongue Scraper) หรือแปรงสีฟันซึ่งมีที่ทำความสะอาดลิ้นในตัว
- ท่านที่สวมสะพานฟัน (Bridge) หรือใส่ฟันปลอม ควรทำความสะอาดให้หมดจดอย่างน้อยวันละครั้งหรือตามคำแนะนำของทันตแพทย์ และท่านที่สวมรีเทนเนอร์ (Retainer) หรือเฝือกสบฟัน (Mouth Guard) ควรทำความสะอาดทุกครั้งก่อนสวมใส่ในช่องปาก โดยใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่ทันตแพทย์แนะนำ
- ดูแลริมฝีปากให้ชุ่มชื่นเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาปากแห้ง โดยหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และดื่มน้ำในปริมาณมาก แต่ไม่ใช่กาแฟ, ซอฟต์ดริงค์ หรือ แอลกอฮอล์ ซึ่งอาจทำให้ปากยิ่งแห้งมากขึ้น และเคี้ยวหมากฝรั่งหรืออมลูกอม (ปราศจากน้ำตาล) เพื่อกระตุ้นน้ำลาย ส่วนท่านที่มีอาการปากแห้งเรื้อรัง อาจต้องพบทันตแพทย์หรือแพทย์ เพื่อวินิจฉัยการจ่ายน้ำลายเทียมหรือยากิน เพื่อกระตุ้นการไหลเวียนของน้ำลายให้ท่าน
- หลีกเลี่ยงอาหารและเครื่องดื่มที่อาจก่อให้เกิดกลิ่นปาก รวมถึงอาหารที่มีน้ำตาลสูงและติดฟัน
- เปลี่ยนแปรงสีฟันใหม่ที่มีขนแปรงนุ่ม ทุก 3-4 เดือน เมื่อขนแปรงเสื่อมสภาพ
- พบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพฟัน หรือ ทำความสะอาดฟันหรือฟันปลอมอย่างสม่ำเสมอ ปีละ 1-2 ครั้ง

วัฒนาวดี เอื้ออารักษ์ เป็นนักแปลอาชีพสายกฎหมายและการแพทย์ และเชี่ยวชาญด้านการแปลสายกฎหมาย, เทคโนโลยีสารสนเทศ, การตลาด, การท่องเที่ยว ฯลฯ

ปัจจุบัน วัฒนาวดี เป็นนักแปลที่ได้รับการรับรองคุณวุฒิวิชาชีพการแปลจาก สคช., ผู้ไกล่เกลี่ย กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ, สมาชิกวิสามัญแห่งเนติบัณฑิตสภา และ อยู่ระหว่างสอบใบอนุญาตว่าความ (สอบผ่านภาคทฤษฎี รุ่น 59) จบการศึกษา ศิลปศาสตรบัณฑิต, นิติศาสตรบัณฑิต, ประกาศนียบัตรภาษาอังกฤษเฉพาะอาชีพ (กฎหมาย)

31/10/2022
บทความที่เกี่ยวข้อง
CHECKSUKKAPHAP.COM
เลขที่ 598 ชั้น 6 ถนนเพลินจิต ลุมพินี ปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330
095-515-9229
ข้อกำหนดและเงื่อนไข ความเป็นส่วนตัว