เช็คสุขภาพ : ที่นี่ ... มีคำตอบให้ทุกคำถามเกี่ยวกับสุขภาพของท่าน
หน้าแรก / บทความ / ยาทรามาดอลยาแก้ปวดที่ฆ่าคุณได้
ยาทรามาดอลยาแก้ปวดที่ฆ่าคุณได้

วันนี้มีโอกาสได้ฟังข่าวจากรายการเรื่องเล่าเช้านี้ เกี่ยวกับการใช้ยาในทางที่ผิด จนถึงขั้นเสียชีวิตมาเล่าให้ฟังกันค่ะ ยาที่กำลังจะพูดถึงนี้ชื่อว่า “ยาทรามาดอล (Tramadol)” เป็นยาแก้ปวดแคปซูลสีเขียวเหลือง ซึ่งถ้าใครติดตามข่าวน่าจะคุ้นเคยกับยาตัวนี้กันมาบ้าง
เนื้อหาข่าวได้อ้างอิงมาจากเพจแหม่มโพธิ์ดำ เล่าว่า “มีผู้ใช้ยาแก้ปวดทรามาดอล 500 มิลลิกรัม เมื่อครั้งเกิดอุบัติเหตุ ลักษณะเป็นเม็ดแคปซูลสีเขียวเหลือง จนหายแล้ว แต่ก็ยังรับประทานอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีอาการตัวบวม ไตวายและเส้นเลือดในสมองตีบ เป็นอัมพาตครึ่งซีกขวา ไม่สามารถเดินได้ และสุดท้ายก็เสียชีวิต” 

อุทาหรณ์ดังกล่าว อ่านดูแล้วทำให้รู้สึกว่า การกินยาไม่ใช่เรื่องตลกเลย เพราะถ้าหากไม่ทราบข้อมูลการใช้ยาที่ถูกต้อง เผลอกินเกินขนาดหรือนำไปใช้ในทางที่ผิด อาจเสียชีวิตได้นะคะ วันนี้ทีมงานอยู่กับยา จึงอยากนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับยาทรามาดอล ให้เพื่อนๆแฟนเพจที่อาจจะยังไม่คุ้นชื่อนี้ ได้ทราบกันค่ะ

ยาทรามาดอล (Tramadol)  คือยาอะไร

เป็นยากลุ่มโอปิออยด์ ใช้บรรเทาอาการปวดระดับปานกลางถึงระดับรุนแรง ซึ่งมีกลไกการทำงานคล้ายกับอนุพันธุ์ของฝิ่น ยานี้มีจำหน่ายในหลายประเทศ สำหรับประเทศไทยจะคุ้นเคยกับยาชื่อการค้าว่า “ทรามอล (Tramal)” มีลักษณะเป็นแคปซูลสีเขียวเหลือง

คุณสมบัติของยาทรามาดอล (Tramadol)

  • ใช้รักษา fibromyalgia (chronic widespread pain)
  • บรรเทาปวดจากโรคมะเร็ง
  • บรรเทาอาการปวดกระดูกและกล้ามเนื้อระดับปานกลางถึงระดับรุนแรง
  • ใช้สำหรับรักษาอาการปวดชนิดเรื้อรัง
  • ยาทรามาดอล (Tramadol) มีประสิทธิภาพในการบรรเทาปวดได้ดีเทียบเท่ามอร์ฟีนสำหรับอาการปวดระดับต่ำถึงปานกลาง แต่จะมีประสิทธิภาพด้อยกว่ามอร์ฟีนสำหรับอาการปวดระดับรุนแรง

ข้อควรระวังในการใช้ยาทรามาดอล (Tramadol)
ไม่ควรรับประทานยาทรามาดอล(Tramadol)เกิน 400 มิลลิกรัมต่อวัน เนื่องจากอาจเกิดอาการชัก ไข้สูง สภาพกล้ามเนื้อแข็งเกร็ง และมีอาการปวดร่วมด้วยได้

  • อาการไม่พึงประสงค์หรือพิษที่เกิดจากการใช้ยาทรามาดอล (Tramadol)
  • อาการไม่พึงประสงค์ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ง่วงซึม มึนงง วิงเวียน ปวดศีรษะ ท้องผูก ชัก เป็นต้น
  • หากใช้ยาทรามาดอล(Tramadol) เกินขนาดอาจทำให้เกิดอาการเซื่องซึม (drowsiness) รูม่านตาหรี่ (constricted pupils) ภาวะกายใจไม่สงบ อัตราหัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูง คลื่นไส้ อาเจียน และเหงื่อออกได้
  • อาการพิษรุนแรง ได้แก่ โคม่า ชัก ความดันโลหิตต่ำ และกดการหายใจ (respiratory depression)
  • ผู้ป่วยที่มีภาวะไตบกพร่อง (renal impairment) ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดพิษจากยาทรามาดอล(Tramadol)
  • พิษจากยาทรามาดอล(Tramadol) จะทำให้เกิดภาวะไข้สูงเกิน (hyperpyrexia) ซึ่งนำไปสู่อาการแทรกซ้อนต่างๆตามมา เช่น ภาวะกล้ามเนื้อลายสลาย (rhabdomyolysis) ภาวะลิ่มเลือดกระจายทั่วไปในหลอดเลือด (disseminated intravascular coagulation) และภาวะไตวายเฉียบพลัน (acute kidney injury) เป็นต้น

ตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 จัดให้ยาทรามาดอล(Tramadol) อยู่ในกลุ่มยาอันตราย ต้องใช้ตามคำแนะนำของแพทย์และเภสัชกรเท่านั้น และที่สำคัญมีกฎหมายบังคับว่า ร้านขายยาห้ามขายแก่เด็กอายุต่ำกว่า 17 ปีซึ่งแต่ละร้านจะขายได้ครั้งละไม่เกิน 20 เม็ด และเดือนละไม่เกิน 1,000 เม็ดเท่านั้น อีกทั้งยังต้องรายงานการขายให้ อย. ทราบด้วย

อยากให้ทุกคนพึงระลึกเสมอว่า “ยาไม่ใช่ขนม จะเกิดประโยชน์ถ้าใช้ในขนาดที่ถูกต้องและถูกกับโรค แต่ถ้าใช้เกินขนาดและไม่ถูกวิธีอาจเกิดโทษถึงเสียชีวิตได้”

ไม่ใช่หน้าที่ใครคนใดคนหนึ่งที่จะแก้ไขปัญหานี้ แต่เป็นหน้าที่และความร่วมมือของทุกคน ไม่ว่าจะเป็นสื่อต่างๆที่จะเข้ามาช่วยกันรณรงค์เรื่องการใช้ยาให้ถูกต้อง หรือ เภสัชกรเอง ที่ควรให้ข้อมูลและความรู้ที่ถูกต้องแก่ประชาชน ไม่ควรคิดถึงแค่รายได้จากการขายยา เพราะบางครั้งรายได้ที่คุณได้มา อาจทำลายอนาคตของชาติได้โดยไม่รู้ตัว…

เรียบเรียงโดยอยู่กับยา

แหล่งที่มา: เรื่องเล่าเช้านี้ กองควบคุมวัตถุเสพติด สำนักกรรมการอาหารและยา

21/05/2018
ภญ. บุณฑริกา บุญไชยแสน

เภสัชกรหญิง บุณฑริกา บุญไชยแสน

จบการศึกษาในระดับปริญญาตรีสาขาบริบาลเภสัชกรรม มหาวิทยาลัยมหาสารคาม จบวุฒิบัตรผู้เชี่ยวชาญด้านบริบาลผู้ป่วยมะเร็ง และผู้ป่วยที่ได้รับยาต้านการแข็งตัวของเลือด ปัจจุบันเป็นเภสัชกรและบรรณาธิการเว็บไซต์ "อยู่กับยา" (Live with Drug)

บทความอื่นๆ
แพทยสมาคมแห่งประเทศไทยฯ ให้ความรู้โรคระบบทางเดินหายใจแก่ประชาชน
แพทยสมาคมแห่งประเทศไทยฯ เปิดตัวโครงการให้ความรู้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงต่อโรคระบบทางเดินหายใจที่สามารถ

WHO เฝ้าระวัง ปอดอักเสบ ในทุกวัย
WHO ออกแถลงการณ์ พบกลุ่มผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ-ปอดบวม ระบาดในเด็กมากขึ้นทางตอนเหนือของจีน โดยหวั่นกันว่า อาจเกิดการระบาดใหญ่อีกระลอก พร้อมเรียกร้องให้จีนเผยข้อมูล

ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย ผนึกกำลังภาครัฐ - นักวิชาการแพทย์ เร่งขับเคลื่อนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค
เนื่องในวันที่ 10 พฤศจิกายน ของทุกปีเป็น “วันแห่งการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค

CHECKSUKKAPHAP.COM
เลขที่ 598 ชั้น 6 ถนนเพลินจิต ลุมพินี ปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330
095-515-9229
ข้อกำหนดและเงื่อนไข ความเป็นส่วนตัว