เช็คสุขภาพ : ที่นี่ ... มีคำตอบให้ทุกคำถามเกี่ยวกับสุขภาพของท่าน
หน้าแรก / บทความ / เรียนรู้สู้โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ … มหันตภัยเงียบที่จัดการได้
เรียนรู้สู้โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ … มหันตภัยเงียบที่จัดการได้

โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis) ถือได้ว่าเป็นเพชฌฆาตเงียบที่สร้างความทรมานต่อผู้ป่วยเป็นอย่างยิ่ง และนับได้ว่าเป็นโรคข้ออักเสบเรื้อรังชนิดรุนแรง หากได้รับการวินิจฉัยโรคล่าช้า หรือได้รับการรักษาที่ไม่ถูกต้อง จะส่งผลให้ข้อถูกทำลาย เกิดเป็นความพิการอย่างถาวรตามมาในที่สุด ในทางตรงข้ามถ้าผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยโรครวมทั้งได้รับการรักษาอย่างถูกต้องตั้งแต่ระยะแรกก่อนที่จะมีการทำลายข้อ ก็อาจสามารถควบคุมโรคให้เข้าสู่ภาวะสงบและไม่เกิดความพิการได้ ดังนั้นจึงจำเป็นที่ผู้ป่วยโรคนี้จะต้องมีความรู้ความเข้าใจและทราบถึงวิธีปฏิบัติตัวที่ถูกต้อง เพื่อให้การรักษาประสบผลสำเร็จ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

พลตรี รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิง ไพจิตต์ อัศวธนบดี ที่ปรึกษาอายุรแพทย์โรคข้อและรูมาติสซั่ม กองอายุรกรรม โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ได้ให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรครูมาตอยด์ว่า “โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์เป็นโรคหนึ่งในกลุ่มโรคแพ้ภูมิตนเอง เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำร้ายเนื้อเยื่อของตนเองโดยเฉพาะเยื่อบุข้อ ทำให้เกิดข้อบวมอักเสบและมีการสร้างน้ำในช่องข้อเพิ่มขึ้น ปัจจุบันยังไม่ทราบแน่ชัดถึงสาเหตุการเกิดโรค แต่สันนิษฐานว่าอาจเกี่ยวข้องกับปัจจัยทางพันธุกรรม และการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย โรคนี้พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย โดยมีอัตราส่วน 3 ต่อ 1 หรือพบผู้ป่วยข้ออักเสบรูมาตอยด์ในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย 2-3 เท่า ช่วงอายุที่พบบ่อยคือ ช่วงวัยกลางคนประมาณ 30 ปลายๆ ถึง 40 ปี พบน้อยในเด็กเล็กและผู้สูงอายุ โดยเฉพาะผู้ใหญ่ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป อาการที่เป็นสัญญาณของโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ คือ มีข้ออักเสบเรื้อรังนานหลายสัปดาห์หรือหลายเดือน ข้อที่อักเสบจะบวมโตและกดเจ็บ มักเป็นหลาย ๆ ข้อ ส่วนใหญ่จะมากกว่า 4 ข้อขึ้นไป ข้อที่พบอักเสบบ่อยคือ ข้อนิ้วมือ ข้อมือ ข้อเข่า ข้อเท้า โดยเป็นแบบสมมาตรคือเป็นที่ข้อเดียวกันทั้งฝั่งขวาและซ้าย ร่วมกับมีอาการฝืดตึงข้อไม่สามารถกำมือและขยับข้อได้ยากโดยเฉพาะเมื่อตื่นนอนตอนเช้า ถ้าอาการอักเสบรุนแรงก็จะทำให้มีไข้ต่ำ ๆ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร และน้ำหนักลดได้ ส่วนใหญ่อาการดังกล่าวจะเพิ่มความรุนแรงขึ้นทีละน้อย ดังนั้นผู้ป่วยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์จึงมักมาพบแพทย์ช้า เนื่องจากเริ่มเห็นว่าอาการดังกล่าวลุกลามและมีความรุนแรงขึ้นซึ่งคงจะไม่หายไปเองได้แล้ว”

“การวินิจฉัยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ ต้องอาศัยการซักประวัติ และการตรวจร่างกายเป็นลำดับแรก การตรวจทางห้องปฏิบัติการจะส่งตรวจเพื่อใช้สนับสนุนการวินิจฉัยโรคนี้และช่วยวินิจฉัยแยกโรคอื่นที่มีอาการคล้ายกันออกไป โรคที่มีอาการเลียนแบบหรือคล้ายกับโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ ได้แก่ โรคลูปัสหรือเอสแอลอี (SLE) โรคข้อและกระดูกสันหลังอักเสบ โรคเกาต์ โรคติดเชื้อเรื้อรัง อย่างเช่น ผู้ป่วยวัณโรคบางรายก็อาจมีอาการข้ออักเสบเรื้อรังหลายข้อเลียนแบบโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ได้ ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการซึ่งสนับสนุนการวินิจฉัยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์คือ การตรวจเลือดพบผลบวกของรูมาตอยด์แฟคเตอร์ (Rheumatoid Factor) และการตรวจภาพรังสีมือ ซึ่งมักพบการกร่อนทำลายกระดูกในข้อ นอกจากนี้การตรวจพบรูมาตอยด์แฟคเตอร์และการทำลายข้อในภาพรังสีมือนี้ยังช่วยบอกถึงความรุนแรงของโรคนี้ได้อีกด้วย”

พลตรี รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิง ไพจิตต์ กล่าวเสริมว่า “โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์เป็นโรคข้ออักเสบเรื้อรังที่รุนแรงมาก มีผู้ป่วยจำนวนน้อยรายไม่ถึงร้อยละ 15 ที่โรคจะสงบและหายขาดไปได้เอง นั่นหมายถึงผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่เป็นโรคนี้จะไม่หายขาด ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องปล่อยให้โรคดำเนินต่อไปก็จะมีการทำลายข้อและเกิดความพิการตามมาในที่สุด แต่ถ้าได้รับการวินิจฉัยโรคและได้รับการรักษาอย่างถูกต้องตั้งแต่ในระยะแรกก่อนมีการทำลายข้อ ก็จะมีโอกาสสูงที่โรคอาจถูกควบคุมได้ดีจนเข้าสู่ภาวะโรคสงบได้ ปัจจุบันมีการพัฒนาความรู้เกี่ยวกับวิธีการรักษาและมีการผลิตยารักษาโรคข้อใหม่ ๆ ที่มีประสิทธิภาพสูงออกมาหลายชนิด สิ่งเหล่านี้ทำให้การรักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ในปัจจุบันประสบความสำเร็จโดยสามารถบรรลุถึงเป้าหมายของการรักษาคือ ทำให้อาการดีขึ้นจนโรคเข้าสู่ภาวะสงบ ผู้ป่วยสามารถใช้ข้อทำงานและทำกิจวัตรส่วนตัวได้ หยุดการทำลายข้อและยับยั้งข้อพิการผิดรูป การรักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ ประกอบด้วย 1.การรักษาโดยไม่ใช้ยา ได้แก่ การให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรค เพื่อให้ผู้ป่วยทุกคนทราบถึงวิธีปฏิบัติตัวเมื่อเป็นโรคนี้ หลีกเลี่ยงการใช้งานมากเกินไปในข้อที่กำลังอักเสบ และงดพฤติกรรมการทำงานที่ส่งผลทำลายข้อมากขึ้น รู้จักการทำกายภาพบำบัดอย่างถูกวิธีและฝึกออกกำลังเพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพการทำงานของข้อและกล้ามเนื้อ 2. การรักษาโดยการใช้ยา ยาในลำดับแรกคือ ยารักษาตามอาการได้แก่ ยาแก้ปวด ยาบรรเทาอาการอักเสบ และยาสเตียรอยด์ เพื่อให้ผู้ป่วยสบายขึ้นในระยะแรก ยาลำดับต่อไปเป็นกลุ่มยาที่สำคัญมากที่จะให้ควบคู่ไปกับยารักษาตามอาการคือ กลุ่มยาที่ปรับเปลี่ยนการดำเนินโรคให้เข้าสู่ภาวะสงบ (Disease Modifying Anti-rheumatic Drugs, DMARDs) โดยแพทย์จะเลือกชนิดของยาในกลุ่มนี้ให้เหมาะสมของความรุนแรงของโรคและลักษณะสุขภาพของผู้ป่วยแต่ละราย ยาในกลุ่มนี้มี 2 ประเภท คือ ยาชนิดสารสังเคราะห์ และยาชนิดสารชีววัตถุ ผู้ป่วยจะต้องใช้ยากลุ่มนี้อย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานเพื่อควบคุมโรคให้สงบและไม่ให้กำเริบขึ้น จนในที่สุดเมื่ออาการของโรคสงบลง แพทย์จะกลับมาพิจารณาลดขนาดยาที่ใช้รักษาตามอาการลงและหยุดใช้ยาเหล่านั้นในที่สุด 3. การรักษาโดยการผ่าตัด จะมีบทบาทในระยะหลัง เช่น การเปลี่ยนข้อใหม่แทนข้อที่ถูกทำลายไปจนไม่สามารถใช้ทำงานได้อีกแล้ว หรือการผ่าตัดซ่อมต่อเส้นเอ็นที่อักเสบและเปื่อยขาด หรือการผ่าตัดเพื่อเพิ่มเสถียรภาพให้กับกระดูกต้นคอที่เคลื่อนหลุดไป เป็นต้น”

“ภาวะแทรกซ้อนในระยะยาวของผู้ป่วยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ นอกจากความพิการของข้อที่ถูกทำลายเนื่องจากไม่ได้รับการดูแลอย่างถูกต้องแล้ว ยังพบภาวะแทรกซ้อนในผู้ป่วยบางรายซึ่งมีอาการนอกข้อของโรค รูมาตอยด์ร่วมด้วย เช่น มีพังผืดในปอด ส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจ มีอาการไอเรื้อรังและเหนื่อยง่าย บางรายมีกระดูกต้นคอเคลื่อนและกดไขสันหลังเกิดอาการชาและอ่อนแรงของกล้ามเนื้อแขนขา บางรายใช้ยาสเตียรอยด์นาน เกิดภาวะกระดูกบาง กระดูกพรุน และกระดูกหักได้ง่าย สำหรับผู้ป่วยสูงอายุที่ได้รับการควบคุมโรคไม่ดี ก็อาจพบภาวะเส้นเลือดตีบแข็ง เกิดอาการของโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดหรือกล้ามเนื้อหัวใจตาย และโรคเส้นเลือดสมองตีบในตอนหลัง”

“ผู้ป่วยสามารถป้องกันและควบคุมอาการของโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ไม่ให้กำเริบขึ้นได้ด้วยตัวเอง โดยรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบหมู่ และงดอาหารที่สังเกตว่าสามารถกระตุ้นโรคของตนเองได้ สำหรับผู้ป่วยที่ได้รับยาในกลุ่มยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) ก็ควรหลีกเลี่ยงอาหารรสจัด โดยเฉพาะเปรี้ยวจัด เผ็ดจัด เค็มจัด หรือผู้ป่วยที่ได้รับยาสเตียรอยด์ขนาดสูง ก็ให้หลีกเลี่ยงอาหารหวาน และไขมันสูง ดังนั้นความรู้ในด้านอาหารสำหรับผู้ป่วยข้ออักเสบรูมาตอยด์จึงเป็นสิ่งสำคัญที่มองข้ามไม่ได้ ผู้ป่วยสามารถออกกำลังกายและทำกายภาพบำบัดได้ แต่ต้องทำอย่างถูกวิธีและไม่หักโหมหรือรุนแรงจนกระทบกระเทือนหรือทำให้บาดเจ็บต่อข้อที่กำลังอักเสบอยู่”

“ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้นทั่วโลกในปัจจุบัน ผู้ป่วยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์จะต้องดูแลสุขภาพของตนเองอย่างเคร่งครัด เนื่องจากอยู่ในกลุ่มเปราะบางซึ่งเสี่ยงสูงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนของ โควิด-19 จากผลสำรวจพบว่าผู้ป่วยในโรคข้อแพ้ภูมิตัวเองมีอัตราสูงต่อการติดเชื้ออย่างรุนแรงจนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล โดยพบว่าผู้ป่วยในกลุ่มเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน เช่น โรคลูปัสหรือแอสแอลอี โรคกล้ามเนื้ออักเสบ โรคปอดอักเสบ จะมีความเสี่ยงสูงต่อภาวะแทรกซ้อนของโควิด-19 มากกว่าผู้ป่วยกลุ่มโรคข้ออักเสบ เช่น เกาต์ และข้อเสื่อม นอกจากนี้ยังมีอีกหลายปัจจัยที่ทำให้ผู้ป่วยโรคข้อแต่ละคนมีความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนของโควิดไม่เท่ากัน เช่น การใช้ยาที่มีฤทธิ์กดภูมิคุ้มกันแตกต่างกัน หรือในขณะที่ติดเชื้อโควิด-19 ผู้ป่วยกำลังอยู่ในระยะโรคสงบหรือกำเริบ เป็นต้น ส่วนใหญ่ผู้ป่วยโรคข้ออักเสบหรือโรคแพ้ภูมิตนเองสามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้อย่างปลอดภัย อย่างไรก็ตามก่อนฉีดวัคซีนให้ผู้ป่วยสอบถามเพื่อรับคำแนะนำจากแพทย์ที่รักษาก่อน พร้อมนำรายชื่อยาที่ใช้ประจำและประวัติการรักษาไปแสดงในวันที่ฉีดวัคซีนด้วย นอกจากนี้ผู้ป่วยจะต้องปฏิบัติตัวตามมาตรการช่วงสถานการณ์ของโรคระบาดอย่างเคร่งครัด ทั้งเรื่องการรักษาความสะอาด การล้างมือ การสวมใส่หน้ากากอนามัย และการเว้นระยะห่างทางสังคม”

“โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ สามารถรักษาและควบคุมโรคให้เข้าสู่ภาวะสงบได้ ผู้ป่วยควรมีความเข้าใจในธรรมชาติของโรค รู้ถึงแผนการรักษาและวิธีการใช้ยารักษาโรคที่จะทำให้เกิดประสิทธิภาพและความปลอดภัยสูงสุด รวมทั้งทราบถึงการปฏิบัติตัวที่ถูกต้อง จากความรู้ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ทำให้การวินิจฉัยโรคในปัจจุบันทำได้เร็วขึ้นโดยสามารถเริ่มให้การรักษาตั้งแต่ระยะแรกของโรค การรักษาโรคจึงประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย ส่งผลให้ผู้ป่วยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ในปัจจุบันมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นกว่าเดิมมาก” พลตรี รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิง ไพจิตต์ กล่าวทิ้งท้าย

ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์นุชรินทร์ ศศิพิบูลย์ ประธานชมรมผู้ป่วยรูมาตอยด์ กล่าวว่า ผู้ป่วย “โรครูมาตอยด์” หรือ Rheumatoid Arthritis และได้ใช้ชีวิตอยู่กับโรคนี้มากว่า 29 ปี แล้ว ได้ร่วมแบ่งปันประสบการณ์การป่วยและการดูแลสุขภาพตนเอง ว่า “เริ่มต้นมีอาการปวดตามข้อนิ้ว ข้อเล็กข้อน้อย ข้อมือทั้ง 2 ข้าง ตามนิ้ว กระดูกข้อต่อต้นคอ ซึ่งไม่รู้เลยว่าอาการเหล่านี้เป็นสัญญาณที่บ่งบอกถึงอาการของโรครูมาตอยด์ เริ่มการรักษาทั้งตามคลินิก โรงพยาบาลต่าง ๆ แม้กระทั่งเดินทางไปรักษาในโรงพยาบาลที่ประเทศจีน อาการก็ไม่ดีขึ้น จนกระทั่งได้เข้ารับการรักษากับแพทย์เฉพาะทางและตรวจรูมาตอยด์แฟคเตอร์ ซึ่งผลออกมา คือ ใช่โรครูมาตอยด์ และได้เริ่มต้นการรักษาตั้งแต่ตอนนั้นเป็นต้นมา ซึ่งยาที่ใช้ในการรักษามีหลายระดับ เริ่มตั้งแต่ NSAIDs ยาที่ฉีดเข้าผิวหนัง มาจนถึงยากลุ่มสารชีวภาพ โดยยาหลาย ๆ ตัวก็จะมีผลข้างเคียงต่างกัน เช่น ทำให้ผิวหนังดำ ไหม้ ซึ่งระหว่างการรักษาคุณหมอก็จะเปลี่ยนยาให้เรื่อย ๆ ตามอาการ จนกระทั่งมา 5-6 ปี ให้หลังนี้ โรคได้สงบลง โดยได้รับยาในกลุ่มสารชีวภาพ ควบคู่กับการทานยาในอีกหลาย ๆ ตัว ซึ่งที่ผ่านมาถือว่าตนเองยังมีความโชคดีที่เข้าถึงการรักษา ได้รับการวินิจฉัยโรคที่ถูกต้องและเข้าถึงยาได้ ทำให้การรักษาเป็นไปอย่างต่อเนื่องและอยู่กับโรคนี้ได้อย่างสงบ ทำให้เราสามารถดำเนินชีวิตได้ ทำงานได้ แต่ยังมีผู้ป่วยส่วนใหญ่อีกเป็นจำนวนมากที่ไม่มีโอกาสได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้อง และยังไม่สามารถเข้าถึงยาที่มีคุณภาพ เนื่องจากระบบประกันสุขภาพของบ้านเราก็ยังไม่ครอบคลุมยาบางชนิด จึงทำให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่ก็ยังคงต้องทรมานกับอาการเจ็บปวดของโรค”

“สำหรับการดูแลตัวเองในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 นี้ ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยโรคไหน หรือแม้แต่ผู้ที่สุขภาพแข็งแรง ก็ต้องใส่ใจดูแลตนเองให้มากขึ้นด้วยกันทั้งนั้น ปัจจุบันอยู่กับโรครูมาตอยด์ด้วยกำลังใจที่ดี ควบคู่กับการดูแลตัวเองเป็นอย่างดี ทั้งด้านการติดตาม และเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่อง การออกกำลังกาย การดูแลเรื่องอาหารการกิน และการดูแลสุขภาพใจ ซึ่งตัวเองเชื่อมั่นว่ายารักษาจะดีแค่ไหน ราคาแพงแค่ไหน ก็ไม่สู้การอยู่ด้วยกำลังใจที่ดี และที่สำคัญคนไข้เอง ต้องเชื่อมั่นในระบบการรักษาของแพทย์ เพื่อจะสามารถอยู่กับโรคได้อย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดี” ผศ.นุชรินทร์ กล่าวสรุป

03/11/2021
ผู้ช่วยศาสตราจารย์นุชรินทร์ ศศิพิบูลย์

ประธานชมรมผู้ป่วยรูมาตอยด์

บทความอื่นๆ
แพทยสมาคมแห่งประเทศไทยฯ ให้ความรู้โรคระบบทางเดินหายใจแก่ประชาชน
แพทยสมาคมแห่งประเทศไทยฯ เปิดตัวโครงการให้ความรู้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงต่อโรคระบบทางเดินหายใจที่สามารถ

WHO เฝ้าระวัง ปอดอักเสบ ในทุกวัย
WHO ออกแถลงการณ์ พบกลุ่มผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ-ปอดบวม ระบาดในเด็กมากขึ้นทางตอนเหนือของจีน โดยหวั่นกันว่า อาจเกิดการระบาดใหญ่อีกระลอก พร้อมเรียกร้องให้จีนเผยข้อมูล

ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย ผนึกกำลังภาครัฐ - นักวิชาการแพทย์ เร่งขับเคลื่อนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค
เนื่องในวันที่ 10 พฤศจิกายน ของทุกปีเป็น “วันแห่งการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค

CHECKSUKKAPHAP.COM
เลขที่ 598 ชั้น 6 ถนนเพลินจิต ลุมพินี ปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330
095-515-9229
ข้อกำหนดและเงื่อนไข ความเป็นส่วนตัว