เช็คสุขภาพ : ที่นี่ ... มีคำตอบให้ทุกคำถามเกี่ยวกับสุขภาพของท่าน
หน้าแรก / บทความ / การอาเจียน (Vomiting): อาการ สาเหตุและการรักษา
โดย : สารัช วงศ์สุนทรพจน์
ทบทวนบทความโดย : ทีมเช็คสุขภาพ
การอาเจียน (Vomiting): อาการ สาเหตุและการรักษา

การอาเจียนคือปฏิกิริยาของร่างกายที่ไม่สามารถควบคุมได้ในการกำจัดอาหารออกจากกระเพาะอาหารผ่านทางปาก โดยอาการคลื่นไส้มักจะเป็นอาการร่วมที่เกิดได้ ในบางกรณีการอาเจียนเกิดจากการที่ร่างกายต้องการการกำจัดสารพิษออกจากร่างกาย 

อาการของการอาเจียนมีอะไรบ้าง

การอาเจียนเป็นอาการที่พบได้โดยทั่วไปในทุกเพศทุกวัย การอาเจียนนั้นอาจจะมีสัญญาณบ่งชี้หรืออาการมาจากหลายสาเหตุด้วยกัน แต่อย่างไรก็ตามการอาเจียนอาจจะเกิดร่วมกับอาการดังต่อไปนี้ เช่น คลื่นไส้ ปวดท้องเกร็ง ท้องร่วง มีไข้ วิงเวียนศีรษะ อาการหน้ามืด เหงือออกมาก ปัสสาวะออกน้อย  หรือผู้ป่วยที่มีอาการอาเจียนรุนแรงอาจจะเกิดอาการร่วมดังต่อไปนี้ เช่น เจ็บหน้าอก ปวดท้องเกร็ง เป็นลม มีภาวะซีด มีไข้สูง อาเจียนเป็นเลือด หรือรู้สึกคล้ายกับมีอุจจาระหรือกลิ่นของอุจจาระออกมาในขณะอาเจียน หากผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงเหล่านี้ร่วมเหล่านี้ควรรีบพบแพทย์โดยทันที

โดยทั่วไปอาการอาเจียนมักเกิดขึ้นบ่อยในสตรีตั้งครรภ์ระยะแรก ผู้ป่วยไมเกรน ผู้ป่วยจากอาหารเป็นพิษ หรือผลข้างเคียงของการรักษาด้วยเคมีบำบัดหรือการฉายรังสีบำบัดในผู้ป่วยมะเร็ง

สาเหตุของการอาเจียน

     มีหลายสาเหตุปัจจัยที่สามารถเป็นสาเหตุของการอาเจียนได้ เช่น

  • กระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบ 
  • โรคที่เกี่ยวกับกระเพาะอาหารและลำไส้ เช่น ลำไส้อุดตัน แผลในกระเพาะอาหาร หรือไส้ติ่งอักเสบ
  • สาเหตุที่เกิดจากยา เช่น ยาเคมีบำบัด, ยาโคเดอีน, มอร์ฟีน, และยาปฏิชีวนะ
  • สาเหตุที่เกิดจากความเครียดหรือสภาวะทางจิตใจ เช่น โรคบูลิเมีย เนอโวซา (bulimia nervosa)

การรักษาการอาเจียน

การอาเจียนโดยปกติแล้วจะมีอาการไม่รุนแรง ผู้ป่วยสามารถดูแลรักษาตนเองให้ดีขึ้นได้ที่บ้าน โดยควรปฏิบัติตามแนวทางต่อไปนี้

  • เพื่อป้องกันการเกิดภาวะร่างกายขาดน้ำและแร่ธาตุ ผู้ป่วยควรรับประทานน้ำซุปใสหรือดื่มสารละลายน้ำตาลและเกลือแร่
  • รับประทานยาลดกรด (Antacids) หรือยาลดกรดกลุ่มออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ Proton pump (PPIs) ตามคำสั่งของแพทย์หรือเภสัชกร

หากมีการอาเจียนรุนแรงควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการตรวจและวินิจฉัยสาเหตุ เพื่อเข้ารับการรักษาหรือเข้ารับการผ่าตัดได้ทันท่วงที

ข้อแนะนำเพิ่มเติม

     คำแนะนำสำหรับการดูแลตนเองสำหรับผู้มีอาการอาเจียนมีดังต่อไปนี้

  • นอนพักผ่อนให้เพียงพอ
  • รับประทานอาหารเหลวหรืออาหารอ่อน หากยังคงมีการอาเจียน 
  • รับประทานยาตามคำสั่งของแพทย์และเภสัชกร
  • หากอาเจียนที่เกิดภาวะป่วยจากการเคลื่อนไหว เช่น การเมารถ การเมาเรือ ควรจะนั่งเอนตัวบนที่นั่งและหายใจเข้าออกอย่างช้า ๆ และลึก ๆ ในขณะที่โดยสารหรือเปลี่ยนที่นั่งโดยสารไปยังบริเวณที่มีการเคลื่อนไหวให้น้อยที่สุด
  • ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งหลังจากการเข้าห้องน้ำและการเตรียมอาหาร
  • หากมีอาการไม่ดีขึ้นภายใน 48 ชั่วโมง หรือมีการอาเจียนและรู้สึกหน้ามืดวิงเวียนศีรษะทันทีที่เปลี่ยนอิริยาบถ ควรรีบพบแพทย์โดยทันที

ประวัติผู้แปล

สารัช วงศ์สุนทรพจน์ สำเร็จการศึกษาวิทยาศาสตร์บัณฑิต สาขาชีววิทยา เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง มหาวิทยาลัยมหิดล และวิศวกรรมศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีชีวภาพ Osaka University ประเทศญี่ปุ่น มีผลงานวิจัยตีพิมพ์ในระดับวารสารนานาชาติ มีประสบการณ์ในการทำงานบริษัทญี่ปุ่น ณ ประเทศญี่ปุ่นในด้านอุปกรณ์ช่วยยกสำหรับสำหรับอุตสาหกรรมการก่อสร้างมาร่วม 4 ปี 

ปัจจุบัน สารัช วงศ์สุนทรพจน์ เป็นพนักงานดูแลฝ่ายขายและการตลาดของกล้องส่องตรวจทางเดินอาหารในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นักแปลและล่ามอาชีพสายกฎหมายและการแพทย์ โดยมีผลงานการแปลบทความและโฆษณาทางด้านการตลาดของเครื่องมือแพทย์

28/11/2021
บทความที่เกี่ยวข้อง
CHECKSUKKAPHAP.COM
เลขที่ 598 ชั้น 6 ถนนเพลินจิต ลุมพินี ปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330
095-515-9229
ข้อกำหนดและเงื่อนไข ความเป็นส่วนตัว