เช็คสุขภาพ : ที่นี่ ... มีคำตอบให้ทุกคำถามเกี่ยวกับสุขภาพของท่าน
หน้าแรก / บทความ / หมอชี้ หญิงแท้งลูกบ่อย-ตั้งครรภ์อายุขึ้นเลข 4 เสี่ยงให้กำเนิด “เด็กดาวน์”
โดย : วณิชชา สุมานัส
ทบทวนบทความโดย : ทีมแพทย์จากเช็คสุขภาพ
หมอชี้ หญิงแท้งลูกบ่อย-ตั้งครรภ์อายุขึ้นเลข 4 เสี่ยงให้กำเนิด “เด็กดาวน์”

27 มีนาคม 2561, กรุงเทพ --- ประเทศไทยมีเด็กเกิดใหม่อยู่ในกลุ่มอาการดาวน์ปีละ 1,000 คน แนะพ่อแม่หลีกเลี่ยงกล่าวโทษกัน หันมาให้กำลังใจ ให้ความรักความอบอุ่นกับเด็ก หมั่นกระตุ้นพัฒนาการเด็กตั้งแต่ช่วงขวบปีแรก จะช่วยให้เด็กมีพัฒนาการและระดับไอคิวดีขึ้น ช่วยเหลือตนเองได้ เรียนหนังสือได้ พร้อมย้ำเตือนหญิงที่แท้งลูกบ่อยๆ โดยไม่ทราบสาเหตุ และหญิงตั้งครรภ์เมื่ออายุขึ้นเลข 4 เป็นกลุ่มเสี่ยงให้กำเนิดลูกโครโมโซมผิดปกติ แนะให้รีบฝากครรภ์โดยเร็ว

นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต เป็นประธานเปิดกิจกรรมเนื่องในวันดาวน์ซินโดรมโลก ซึ่งตรงกับวันที่ 21 มีนาคม ทุกปี ในปีนี้เน้นในหัวข้อ ดาวน์ดวงนี้ที่สร้างได้ เพื่อรณรงค์ให้ความรู้ความเข้าใจประชาชนในการป้องกันปัญหาและการยอมรับผู้ที่เป็นดาวน์ซินโดรม ให้อยู่ในสังคมอย่างมีความสุข พร้อมทั้งเผยแพร่แบบอย่างของบุคคลดาวน์ซินโดรมที่ประสบผลสำเร็จด้านการศึกษาและอาชีพ

อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า กลุ่มอาการดาวน์ (Down Syndrome) เป็นโรคทางพันธุกรรมไม่มียารักษา สาเหตุเกิดจากความผิดปกติของโครโมโซมคู่ที่ 21 ในช่วงที่เซลล์แบ่งตัวหลังจากไข่และอสุจิปฏิสนธิกัน ทั่วโลกพบในเด็กเกิดใหม่ประมาณ 1 ต่อ 1,000 คน กว่าร้อยละ 80 เกิดจากแม่อายุ 35 ปีขึ้นไป ส่วนไทยมีหญิงให้กำเนิดลูกที่เป็นกลุ่มอาการดาวน์ปีละ 800-1,000 คนจากหญิงคลอดที่มีปีละประมาณ 800,000 คน

ลักษณะเฉพาะของเด็กกลุ่มนี้ซึ่งเหมือนกันทั่วโลกได้แก่ เชาวน์ปัญญาต่ำ ทำให้มีปัญหาด้านพัฒนาการ เช่น พูดช้า มีปัญหาในการใช้กล้ามเนื้อ ตัวอ่อนปวกเปียก กล้ามเนื้อหย่อน ข้อต่อหลวม มีโครงสร้างทางใบหน้าที่โดดเด่นชัดเจน เช่น หน้าแบน หัวเล็ก หูเล็ก หูบิดผิดรูปร่าง ปากเล็ก ตาเรียว หางตาเฉียงขึ้น มีจุดสีขาวอยู่ที่ตาดำ คอสั้น แขนขาสั้น ตัวเตี้ยกว่าคนในวัยเดียวกันเมื่อโตขึ้น มีปัญหาสุขภาพตั้งแต่กำเนิดหลายเรื่อง เช่น ผนังหัวใจผิดปกติ มีปัญหาการมองเห็น ระดับฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ หากไม่ได้รับการดูแลช่วยเหลือโดยเร็วและเหมาะสม จะเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพที่รุนแรงและซับซ้อน ส่งผลกระทบต่อการเลี้ยงดูและการใช้ชีวิตของเด็กในระยะยาว

คาดขณะนี้จะมีคนไทยอยู่ในกลุ่มอาการดาวน์ 70,000-80,000 คนทั่วประเทศ และจัดอยู่ใน 1 ใน 8 ประเภทของผู้พิการไทย

นพ.บุญเรือง กล่าวต่อว่า เด็กกลุ่มอาการดาวน์ส่วนใหญ่ร้อยละ 85 มีระดับไอคิวต่ำระดับน้อยถึงปานกลางอยู่ที่ 50-70 จุด ระดับไอคิวยิ่งต่ำเท่าใดพัฒนาการจะล่าช้ามากขึ้น หัวใจหลักของการดูแลจะเน้นที่การส่งเสริมพัฒนาการเพื่อให้เด็กช่วยเหลือตนเองได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดีอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข โดยเด็กสามารถมีพัฒนาการดีขึ้นได้ หากพ่อแม่กระตุ้นตั้งแต่ภายในขวบปีแรกและต่อเนื่องจนถึงอายุ 5 ขวบ และจะช่วยลดความรุนแรงของพัฒนาการและระดับไอคิวได้ เด็กบางคนสามารถเรียนหนังสือจนถึงระดับปริญญาตรี มีอาชีพและรายได้แบ่งเบาภาระผู้ปกครองได้

“กลุ่มอาการดาวน์ที่พบในไทยมี 4 แบบ ที่พบมากที่สุดคือไตรโซมี่ 21 (Trisomy21) มีโครโมโซมคู่ที่ 21 เกินมา 1 นี้สามารถวินิจฉัยได้ทั้งขณะตั้งครรภ์ผ่านการคัดกรองขณะตั้งครรภ์และตามด้วยการตรวจวินิจฉัยยืนยัน ดังนั้นจึงขอให้หญิงทุกคนรีบฝากครรภ์ทันทีเมื่อรู้ว่าตัวเองตั้งครรภ์ เพื่อตรวจหาความผิดปกติตั้งแต่เนิ่นๆ” อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวและว่า หญิงที่แท้งลูกบ่อยๆ โดยไม่ทราบสาเหตุ และหญิงตั้งครรภ์เมื่ออายุขึ้นเลข 4 เป็นกลุ่มเสี่ยงให้กำเนิดลูกโครโมโซมผิดปกติ แนะให้รีบฝากครรภ์โดยเร็ว

ด้าน พญ.มธุรดา สุวรรณโพธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล กล่าวว่า พ่อแม่ที่มีลูกอยู่ในกลุ่มอาการดาวน์ขอให้หลีกเลี่ยงการกล่าวโทษตัวเองและคู่สมรสว่าเป็นสาเหตุ แต่ควรให้กำลังใจซึ่งกันและกัน และให้ความรักความอบอุ่นแก่เด็ก จะทำให้เด็กมีความเชื่อมั่น จะส่งผลต่อพัฒนาการที่ดี เด็กดาวน์สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตได้ผ่านการศึกษาและการดูแลที่เหมาะสม โดยเด็กกลุ่มนี้จะมีพัฒนาการเป็นขั้นตอนเช่นเดี่ยวกับเด็กทั่วไปแต่จะช้ากว่าเด็กปกติทั่วไปประมาณ 2 ปี โดยเด็กจะเริ่มเดินได้อายุประมาณ 2 ขวบ เริ่มพูดที่อายุประมาณ 2 ขวบถึง 2 ขวบครึ่ง สามารถควบคุมการขับถ่ายที่อายุ 2 ปี 10 เดือน พ่อแม่สามารถส่งเสริมได้โดยให้เด็กช่วยเหลือตนเองในชีวิตประจำวันอย่างเต็มศักยภาพ เช่น อาบน้ำ แต่งตัวเอง ทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน จนหลายคนสามารถเข้าโรงเรียนและเรียนในชั้นเรียนปกติได้ บางรายอาจต้องได้รับการศึกษาพิเศษ บางรายจบการศึกษาระดับมัธยมปลาย และจำนวนหนึ่งเรียนต่อในระดับอุดมศึกษาได้

สำหรับกลุ่มเด็กอาการดาวน์ที่ไม่สามารถเข้าสู่ระบบการศึกษาได้ตั้งแต่วัยก่อนเรียน สถาบันราชานุกูลได้จัดโปรแกรมฟื้นฟูทางการศึกษาในช่วงอายุ 6 ปีขึ้นไป จะช่วยให้เด็กดาวน์อ่าน เขียน คำนวณอย่างง่ายๆ ได้ แล้วส่งต่อให้สมาคมผู้ปกครองคนพิการทางสติปัญญาแห่งประเทศไทยส่งเสริมให้ได้ทำงานในสถานประกอบการทั้งภาครัฐและเอกชนในปี 2561 นี้ ได้รับการจ้างงาน 1,039 อัตรา เพิ่มจากปี 2559 ที่มี 654 อัตรา

ที่มา: กรมสุขภาพจิต

27/03/2018
บทความที่เกี่ยวข้อง
CHECKSUKKAPHAP.COM
เลขที่ 598 ชั้น 6 ถนนเพลินจิต ลุมพินี ปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330
095-515-9229
ข้อกำหนดและเงื่อนไข ความเป็นส่วนตัว