เช็คสุขภาพ : ที่นี่ ... มีคำตอบให้ทุกคำถามเกี่ยวกับสุขภาพของท่าน
หน้าแรก / บทความ / อีกยี่ห้อ! อย. สั่งดำเนินคดีผู้ผลิต Marry Peaw อ้างลดอ้วน โฆษณาเกินจริง
โดย : วณิชชา สุมานัส
ทบทวนบทความโดย : ทีมแพทย์จากเช็คสุขภาพ
อีกยี่ห้อ! อย. สั่งดำเนินคดีผู้ผลิต Marry Peaw อ้างลดอ้วน โฆษณาเกินจริง

29 เมษายน 2561, กรุงเทพ --- สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เตือน โฆษณาชวนเชื่อผลิตภัณฑ์ลดน้ำหนัก “แมรรี่ เพรียว” (Marry Peaw) อ้างสรรพคุณเกินจริงผ่านสื่อสังคมออนไลน์ แสดงข้อความโฆษณาขายยา แต่ไม่มีการขออนุญาตการโฆษณาให้ถูกต้องและไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา ผู้บริโภคอย่าหลงเชื่อคำกล่าวอ้างสรรพคุณดังกล่าว นอกจากจะไม่ได้ช่วยให้น้ำหนักลดแล้ว ยังอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพอีกด้วย พร้อมเตือนผู้ขายยาลดความอ้วนผ่านสื่อทุกช่องทาง ถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย หากตรวจพบจะถูกดำเนินคดีทันที

นพ.พูลลาภ ฉันทวิจิตรวงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า ตามที่ อย. ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคให้ตรวจสอบการโฆษณาผลิตภัณฑ์ “แมรรี่ เพรียว” (Marry Peaw) ซึ่งพบว่ามีการโฆษณาอ้างสรรพคุณเกินจริงผ่านสื่อสังคมออนไลน์ นั้น อย. ตรวจสอบข้อเท็จจริงพบการโฆษณาผลิตภัณฑ์อ้างสรรพคุณลดน้ำหนักทางเฟซบุ๊ก ชื่อ “ผู้หญิงอย่าหยุดสวย อยาก ผอม ทักมา” ภายหลังมีการเปลี่ยนชื่อเฟซบุ๊กเป็น “จี๊ดถึงจัย มะนาวหวาน https://www.facebook.com/veeranuch.singsatit แสดงข้อความในทำนองช่วยลดน้ำหนัก ตอบโจทย์ทุกปัญหา “ความอ้วน”... เปลี่ยนหุ่นเสียให้เป็นหุ่นสวย

ซึ่งข้อความเหล่านี้เป็นการโฆษณาขายยาโดยไม่ได้รับอนุญาตและโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง เพื่อจูงใจให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์ มีโทษปรับไม่เกิน 1 แสนบาท และ อย. ได้สั่งระงับการโฆษณาแล้ว นอกจากนี้ยังพบว่าผลิตภัณฑ์ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยาให้ถูกต้องกับ อย. มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด

นพ.พูลลาภ กล่าวต่อว่า ขอเตือนภัยสาวอยากผอมพึงระวัง อย่าตกเป็นเหยื่อหลงเชื่อคารมการโฆษณาจากผู้ขายโดยเด็ดขาด นอกจากจะไม่ได้ช่วยให้น้ำหนักลดลงแล้ว ยังส่งผลเสียต่อสุขภาพในหลาย ๆ ด้านอีกด้วย โดยยาลดความอ้วนส่วนใหญ่ออกฤทธิ์ลดความอยากอาหาร เป็นยาที่กระตุ้นประสาทส่วนกลาง การใช้จะทำให้น้ำหนักลดลงได้ขณะรับประทานยา แต่น้ำหนักจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเมื่อหยุดยา หรือที่เรียกว่า yo-yo effect และผลข้างเคียงจากการใช้ยาที่พบบ่อย คือ นอนไม่หลับ เวียนศีรษะ วิตกกังวล ตาพร่า หากใช้ติดต่อกันนาน อาจทำให้ติดยาได้ ดังนั้น การใช้ยาเพื่อลดความอ้วน ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญเท่านั้น อย่าซื้อยามารับประทานเอง เพราะนอกจากจะสิ้นเปลืองเงินแล้วยังอาจได้รับอันตรายจากการปนเปื้อนยาหรือสารอันตราย ที่ผสมอยู่ในผลิตภัณฑ์ อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

รองเลขาธิการ อย. กล่าวว่า ผู้ที่อยากหุ่นสวยดูมีน้ำมีนวล ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหารและควบคุมอาหาร ไม่กินอาหารพร่ำเพรื่อ ไม่กินจุบกินจิบ ควรกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ หลีกเลี่ยงอาหาร หวาน มัน เค็ม รวมทั้งออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ พร้อมเตือนผู้ขายยาลดความอ้วนผ่านสื่อทุกช่องทาง ถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย หากตรวจพบจะถูกดำเนินคดีทันที หากผู้บริโภคได้รับอันตรายจากการใช้ผลิตภัณฑ์สุขภาพ สามารถแจ้งร้องเรียนได้ที่ สายด่วน อย. 1556 หรือที่ E-mail: 1556@fda.moph.go.th หรือ ตู้ ปณ. 1556 ปณฝ. กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือร้องเรียน ผ่าน Oryor Smart Application หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัดทั่วประเทศ

29/04/2018
บทความที่เกี่ยวข้อง

กรมควบคุมโรคพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพ เตือนช่วงนี้พบเด็กป่วยโรคไอกรนต่อเนื่อง จากข้อมูลการสอบสวนโรค พบว่าเด็กที่ป่วยด้วยโรคไอกรนส่วนใหญ่ติดเชื้อ



การใช้ยาคุมฉุกเฉินเป็นเรื่องที่ถูกถามบ่อยจากบรรดาวัยรุ่น หลายคนเลือกใช้ยาคุมฉุกเฉินเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ เพราะคิดว่าเป็นวิธีที่ดีที่สุด หากคุณพี่ของน้องอดไม่ไหวแล้ว ยาคุมฉุกเฉินมีฮอร์โมนเหมือนยาคุมทั่วไป เพียงแต่จะมีขนาดฮอร์โมนที่สูงกว่า ยาคุมกำเนิดสามารถป้องกันสเปิร์มไม่ให้เข้าไปปฏิสนธิกับไข่ หรือทำให้ไข่ออกจากรังไข่ได้ช้าลง ทำให้เยื่อบุมดลูกเปลี่ยนแปลงจนไม่เหมาะกับการฝังตัวของไข่ที่ผสมแล้ว



กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ตรวจผลิตภัณฑ์เสริมอาหารควบคุมน้ำหนักและบำรุงที่จำหน่ายในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 3 และที่ 4 พบมีการปนปลอมยาลดน้ำหนัก ยารักษาโรคซึมเศร้า ยาระบาย และยาไวอากร้า ซึ่งผู้บริโภคอาจได้รับอันตราย ถึงแก่ชีวิตจากยาที่มีการปนปลอมค่อนข้างสูง


CHECKSUKKAPHAP.COM
เลขที่ 598 ชั้น 6 ถนนเพลินจิต ลุมพินี ปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330
095-515-9229
ข้อกำหนดและเงื่อนไข ความเป็นส่วนตัว