เช็คสุขภาพ : ที่นี่ ... มีคำตอบให้ทุกคำถามเกี่ยวกับสุขภาพของท่าน
หน้าแรก / บทความ / Patient’s Story: อยู่กับมะเร็งอย่างไรให้สุขภาพดี
Patient’s Story: อยู่กับมะเร็งอย่างไรให้สุขภาพดี

“ชีวิตกับมะเร็ง” เล่าให้ฟังได้ไหมคะ

พี่ชื่อ สุภาวรรณ ก้องวัฒนา เรียกพี่ว่า “พี่หลี” ก็ได้ค่ะ พี่พบว่า ตัวเองเป็นโรคปอดระยะ 2 ไป 3 เมื่อ 5 ปีที่แล้ว ซึ่งสมัยนั้น คนที่ป่วยเป็นมะเร็งชนิดกลายพันธุ์แบบพี่ ยังไงก็ต้องโดนคีโม ซึ่งพี่โดนคีโมหนักที่สุดด้วย ประมาณ 14 โดส ทุกสัปดาห์

จากนั้น 9 เดือนต่อมา พี่กลับไปสแกนซ้ำ พบว่ามันลามไปที่ต่อมน้ำเหลือง แต่ก่อนจะทำคีโม พี่ได้ตัดสินใจตัดกลีบปอดล่างสุดด้านขวาออก ขนาดตัดแล้ว ยังลามไปทีอื่นได้อีก ซึ่งถ้าลามไปต่อมน้ำเหลืองแล้ว แปลว่า มะเร็งในตัวพี่อยู่ในระยะ 4 ซึ่งคุณหมอของพี่ก็บอกว่า พี่ชีวิตเหลืออยู่อีกแค่ 6 เดือนเท่านั้น และแนะนำให้พี่ไปฉายแสง อย่างไรก็ตาม พี่แจ้งกับหมอของพี่ไปว่า พี่ขอใช้สิทธิ์ของผู้ป่วยพี่จะขอความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญอีกสักคน (Second Opinion) นะ สรุปตอนนั้นคือ พี่ก็เก็บรวบรวมเงิน ไปรักษาตัวที่ญี่ปุ่นด้วยวิธีการรักษาที่เรียกว่า  Immunotherapy ซึ่งเป็นการดึงเลือดของตัวเองออกมา ฉีดมะเร็งปลอมเข้าไป แล้วก็ฉีดกลับเข้าไปในร่างกายใหม่ พี่รู้สึกได้เลยว่า สุขภาพดีขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม พี่มาพบว่า มะเร็งปอดก็ยังไม่หยุด จึงต้องพบแพทย์ เพื่อตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจ จึงพบว่า มะเร็งแบบที่พี่เป็นยังสามารถรักษาด้วยยาเม็ดบางชนิดได้ ซึ่งผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งปัจจุบันนี้ถือว่าโชคดีมาก เพราะไม่ต้องทำคีโม สามารถที่จะทานยาได้เลย พี่เองก็ทานยา ซึ่งปัจจุบันนี้ ที่มีชีวิตอยู่ได้ก็อาศัยการทานยานี่เอง

รับมืออย่างไร เมื่อหมอบอกว่า “ชีวิตเหลือเวลาแค่ 6 เดือน”

จริง ๆ แล้ว พี่เป็นผู้ป่วยมะเร็งเพียงแค่ 3 % ในประเทศไทย ที่ป่วยแบบพี่ แล้วยังมีชีวิตอยู่ได้เกิน 5 ปี และเป็น 15% ของผู้ป่วยมะเร็งในโลกที่ยังมีชีวิตอยู่ได้เกิน 5 ปี การใช้ชีวิตของพี่ ช่วงที่หมอแจ้งว่า ชีวิตพี่มีเวลาเหลือแค่ 6 เดือนเท่านั้น พี่เลือกที่จะใช้ชีวิตให้คุ้มค่า ใช้ชีวิตให้สดใส ทำเวลาที่เหลือให้มีค่าที่สุดก่อนตาย ผู้ป่วยมะเร็งเป็นผู้ป่วยที่น่าสงสารที่สุด เพราะบางครั้ง หมอชอบบอกว่า โรคมะเร็งเป็นโรคเวรโรคกรรม และการที่หมอต้องมาบอกผู้ป่วยว่า จะเหลือเวลาใช้ชีวิตอยู่แค่นั้นแค่นี้ มันโหดร้ายมาก เพราะมันก็ทำให้ผู้ป่วยจิตตกตอนนั้น พี่ก็พยายามหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต เพื่อดูว่ามีวิธีรักษาอะไรอีกบ้าง นอกจากการแพทย์แผนปัจจุบัน ถึงตอนนั้น พี่เลยตัดสินใจให้ตัวเองได้ทดลองรักษาด้วยตัวเอง เป็นอาจารย์ใหญ่ตัวเป็น ๆ นี่แหละ ทดลองกับตัวเองเลย 

และด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบันมันดีขึ้นเรื่อย ๆ โอกาสที่เราจะหายจากมะเร็งมีเยอะ หรือถ้าไม่หายอย่างพี่ อย่างน้อย เราก็สามารถอยู่กับมันได้อย่างมีคุณภาพชีวิตดีที่สุด และนั่นคือสุดยอดปรารถนาของผู้ป่วยทุกคน 

ดูแลตัวเองช่วงล็อกดาวน์และ New Normal อย่างไร

ช่วงมีนาคม 2563 พี่รักษาโรคมะเร็งของพี่อยู่กับโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง คุณหมอสั่งว่าไม่ให้พี่มาโรงพยาบาล พี่ก็งงว่า แล้วจะต้องทำอย่างไร แน่นอน พี่โชคดีที่ใช้ยาเม็ด พี่ก็ให้ทางเภสัชของโรงพยาบาลจัดยาให้ตามใบสั่งยา แล้วให้ลูกน้องพี่ไปรับ  

ในช่วง 45 วันแรกที่โควิดระบาด พี่เก็บตัวคนเดียวในบ้าน พี่มีครอบครัวด้วย มีหลานด้วย กับช่วง 45 วันนั้น ก็ว่ากันว่า เด็ก ๆ สามารถเป็นพาหะที่จะนำโรคมาหาผู้ใหญ่ที่อายุเกิน 60 ได้ พี่ก็เลยต้องอยู่บ้าน แต่พี่ก็ไม่ได้ระวังมากจนไม่ต้องทำอะไรกันเลย แต่ของที่มาส่งทางไปรษณีย์ถึงที่บ้านก็ต้องเอาเข้าตู้อบ ฆ่าเชื้อ แต่ไม่ได้ใช้ชีวิตแบบเศร้าสร้อย กลุ้มใจ หรือขังตัวเองเลย ซึ่งพี่ก็ใช้ชีวิตตามปกติ พี่ก็ยังสามารถใช้ Line  ใช้ FaceTime  ในการที่จะคุยกับคนไข้ที่ต้องการกำลังใจ หรือมีคำถามต่างๆ ก็คือพยายามทำตัวให้เป็นประโยชน์ 

หลังจาก 45 วันไปแล้ว ทางโรงพยาบาลก็อนุญาตให้พี่กลับเข้าไปพบคุณหมอตามปกติ เพราะโรงพยาบาลมีการบริหารจัดการพี่ดีขึ้น มีการแบ่งสัดส่วนพื้นที่สำหรับผู้ป่วยทั่วไป และผู้ป่วยที่เป็นโควิดแยกออกจากกัน ซึ่งคุณหมอก็ให้ความมั่นใจว่าคนไข้ก็จะปลอดภัย อนุญาตให้คนไข้สามารถเข้าพบแพทย์โรงพยาบาลตามปกติได้ทุกคน 

แต่อย่างไรก็ตาม พี่ก็ยังต้องระวัง ยังต้องสวมหน้ากากอนามัย ยังต้องเว้นระยะห่าง หมั่นล้างมือ เมื่อต้องไปโรงพยาบาล ถ้าถามว่า มันมีความอึดอัดวุ่นวายไหม พี่ก็ขอตอบเลยว่าไม่ นอกจากนี้ ก็ยังต้องระวังด้วยว่าเราใช้ชีวิตอย่างไรในแต่ละวัน อย่างพี่ จะมีคนเชิญไปงานเลี้ยงต่าง ๆ เยอะพอสมควร เราก็ต้องรู้ว่างานไหนเราควรไปหรือไม่ควรไป ถ้าเป็นไปได้ พี่ก็จะงดไป คนอื่นติดโควิตอาจจะไม่ตาย แต่พี่มีโรคประจำตัวแบบนี้ตายชัวร์ แล้วพี่ก็อายุจะ 60 แล้วด้วย นอกจากนี้ พี่ยังมีเพื่อนที่ติดโควิตเรียบร้อยแล้วเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา จนถึงทุกวันนี้ปอดเขาก็ยังอักเสบอยู่ น้ำหนักก็ลดลง ผอมลงมาก เป็นผู้ชาย และร่างกายก็ไม่ได้แข็งแรงเหมือนสมัยก่อนที่ยังสุขภาพดี 

งานจิตอาสา

นอกจากนี้ พี่ยังทำงานจิตอาสา ให้คำปรึกษาผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งต่าง ๆ ซึ่ง การให้คำปรึกษาผู้ป่วยโรคมะเร็งนั้น เราก็จะต้องมีหลักการในการพูด ให้เขามีกำลังใจกลับขึ้นมา เพราะพี่เชื่อมั่นว่า ต่อให้ยาดี ราคา 10 ล้าน แต่ถ้าคุณไม่มีกำลังใจ แล้วคุณจะมีชีวิตอยู่ได้ ไม่มีทางเลย เพราะฉะนั้น กำลังใจสำคัญที่สุด นอกจากนี้ พี่ก็จัดคอร์ส เกี่ยวกับการกลับมารู้สึกตัวก่อนที่เราจะไปกังวลกับโรคที่เป็นอยู่ สอนให้ผู้ที่เข้าร่วมคอร์สเข้าใจว่าต้องทำอย่างไร จิตใจเราจะไม่กังวลกับโรคภัยไข้เจ็บปัจจุบัน และไม่อุปาทานล่วงหน้าว่า เป็นมะเร็ง ฉันต้องตาย รักษาไม่หาย เป็นมะเร็งจะต้องทรมาน ที่จริงแล้ว สิ่งเหล่านี้เป็นอุปาทานล้วน ๆ 

พี่โชคดีที่มีตังค์ ดังนั้นจึงสามารถเข้าถึงยาราคาแพงได้ แต่เวลาที่เราไปทำงานจิตอาสา ให้ความรู้และให้กำลังใจผู้ป่วยมะเร็งรายอื่น ๆ ที่สภาพเศรษฐกิจไม่เหมือนเรา ก็จะเป็นเรื่องที่ท้าทาย หลายคนเป็นมะเร็ง ไม่สามารถเข้าถึงยาแพง ๆ ได้ ก็ปล่อยกันจนระยะสุดท้าย อย่างเช่น คนที่เป็นไวรัสตับอักเสบต่าง ๆ ก็ไม่ยอมรักษาจนกระทั่งปล่อยเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย ก็ต้องฉายแสงหรือทำคีโม ซึ่งค่าใช้จ่ายก็จะมีสูงขึ้นไปอีก ผู้ป่วยระยะต้น ๆ ที่ตรวจเจอเร็ว ค่าใช้จ่ายก็จะน้อยลง อาจจะแค่จี้เอาออก แล้วก็ไม่ต้องรักษากันจนยาวมาจะระยะสุดท้าย พี่มีญาติที่เป็นมะเร็งตับ จี้กันมา 8 ปี จนแทบจะไม่มีเนื้อให้จี้ พี่เลยแนะนำให้เปลี่ยนตับเลยดีกว่า แล้วก็อยู่ต่อแบบซ่า ๆ มาได้อีก 3 ปีซึ่งตอนนี้ก็ยังมีชีวิตอยู่ 

นอกจากนี้ ในผู้ป่วยบางราย พี่ยังต้องแนะนำในเรื่องของการใช้ชีวิตให้ใกล้ชิดธรรมชาติ เพราะพี่เองก็ลองมาหมด รวมทั้ง แพทย์แผนไทยด้วย ทั้งนี้ หากผู้ป่วยมะเร็งท่านใดต้องการกำลังใจ ข้อมูลดี ๆ หรืออยากได้คนที่เข้าใจพูดคุยด้วย สามารถทักมาใน Facebook ได้ที่ https://www.facebook.com/cancer.ofLily ซึ่งพี่ยินดีตอบทุกคนค่ะ

เป็นมะเร็ง กินอย่างไรให้สุขภาพดี

นอกจากนี้ พี่ก็ยังต้องแนะนำให้ผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งคนอื่น ๆ รู้จักดูแลตัวเอง งดทานเนื้อแดง งดทานของหมักของดอง ผักผลไม้บางชนิดที่เราเข้าใจว่ามีประโยชน์ ผู้ป่วยมะเร็งก็ต้องมีความรู้ในการที่จะกินมัน เช่น ผักคะน้า เราเห็นก้านเขียว ๆ ดูอุดมสมบูรณ์ บางทีอาจจะเต็มไปด้วยสารพิษที่ก่อมะเร็งได้ ปุ๋ยบางชนิดก็เป็นสารก่อมะเร็งได้ โดยเฉพาะตัวไนเตรท ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งอย่างดีในปุ๋ยที่เอาไปใส่ในผักที่ปลูก แล้วก็ผลไม้กลม ๆ ทั้งหลาย เช่น แคนตาลูป แตงโม ฯลฯ พวกนี้ก็ยังต้องฉีดไนเตรท นี่ยังไม่รวมยาฆ่าแมลงอีกนะคะ แล้วพวกนี้ เห็นเอาแตงโมมาลูกนึงและวัดสารไนเตรท มันสามารถวัดได้นะคะ แตงโมลูกนึงมีสารไนเตรทเป็น 1,000 มิลลิกรัม เรากินเข้าไปได้วันนึงห้ามเกิน 150 มิลลิกรัม แล้วผักไฮโดรโปรนิกส์อีก พี่ไม่แตะผักไฮโดรโปนิกส์เลยนะ เพราะมีไนเตรทเต็มไปหมด ลองไปดูกระบวนการปลูกได้ มันดูดแต่สารเข้มข้นจากน้ำเท่านั้น สลัดผักไฮโดรโปนิกส์พี่ก็ยิ่งไม่แตะเลย 

สำหรับการดูแลเรื่องอาหารการกินอื่น ๆ ก็คือ ถ้าเป็นไป ได้พี่ไม่กินเนื้อแดงอยู่แล้ว และก็พี่จะไม่ทานน้ำตาลเลย แล้วก็พี่จะไม่ทานนมด้วย นมนี่รวมถึงชีสและเนยด้วย เพราะว่ามันมีเมือก เมือกตัวนี้มะเร็งก็ชอบ นอกจากเรื่องอาหารแล้ว พี่ก็ยังต้องดูแลเรื่องความเครียด เพราะมะเร็งเกิดจากร่างกายที่บาดเจ็บตลอดเวลา ความเครียดก็ยิ่งมาซ้ำเติมร่างกายให้เราบาดเจ็บเข้าไปอีก 

มะเร็งไม่ใช่โรคเวรโรคกรรม เราควรอยู่กับมันอย่างมีสติ และไม่ท้อแท้หรือหดหู่กับสิ่งที่ยังมาไม่ถึง ที่สำคัญ ต้องหมั่นดูแลตัวเองทั้งร่างกายและจิตใจ 

บทสัมภาษณ์ของคุณสุภาวรรณ ก้องวัฒนา (หลี) นี้ทำขึ้นที่ บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด

02/01/2021
สุภาวรรณ ก้องวัฒนา

คุณสุภาวรรณ ก้องวัฒนา อายุ 59 ปี ปัจจุบัน เป็นเจ้าของกิจการ และเป็นโค้ช ให้คำปรึกษาเรื่องการใช้ชีวิตกับมะเร็ง

บทความอื่นๆ
แพทยสมาคมแห่งประเทศไทยฯ ให้ความรู้โรคระบบทางเดินหายใจแก่ประชาชน
แพทยสมาคมแห่งประเทศไทยฯ เปิดตัวโครงการให้ความรู้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงต่อโรคระบบทางเดินหายใจที่สามารถ

WHO เฝ้าระวัง ปอดอักเสบ ในทุกวัย
WHO ออกแถลงการณ์ พบกลุ่มผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ-ปอดบวม ระบาดในเด็กมากขึ้นทางตอนเหนือของจีน โดยหวั่นกันว่า อาจเกิดการระบาดใหญ่อีกระลอก พร้อมเรียกร้องให้จีนเผยข้อมูล

ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย ผนึกกำลังภาครัฐ - นักวิชาการแพทย์ เร่งขับเคลื่อนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค
เนื่องในวันที่ 10 พฤศจิกายน ของทุกปีเป็น “วันแห่งการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค

CHECKSUKKAPHAP.COM
เลขที่ 598 ชั้น 6 ถนนเพลินจิต ลุมพินี ปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330
095-515-9229
ข้อกำหนดและเงื่อนไข ความเป็นส่วนตัว