เช็คสุขภาพ : ที่นี่ ... มีคำตอบให้ทุกคำถามเกี่ยวกับสุขภาพของท่าน
หน้าแรก / บทความ / มะเร็งเต้านมชนิดไม่ลุกลาม (Ductal Carcinoma in situ - DCIS) อาการและการรักษา
โดย : วุฒิพงษ์ มาลา
ทบทวนบทความโดย : ทีมเช็คสุขภาพ
มะเร็งเต้านมชนิดไม่ลุกลาม (Ductal Carcinoma in situ - DCIS) อาการและการรักษา

มะเร็งเต้านมชนิดไม่ลุกลาม (Ductal carcinoma in situ - DCIS)) เป็นเซลล์มะเร็งที่ก่อตัวขึ้นภายในท่อน้ำนม และถือเป็นรูปแบบเริ่มต้นของมะเร็งเต้านม โดยที่จัดเป็นมะเร็งแบบไม่ลุกลามเนื่องจากยังไม่แพร่กระจายตัวไปยังส่วนอื่นๆ ของเต้านม มะเร็งเต้านมชนิดไม่ลุกลามนี้สามารถตรวจพบได้ด้วยการตรวจแมมโมแกรม เมื่อทำการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมหรือตรวจหาก้อนที่เต้านม

แม้ว่ามะเร็งเต้านมชนิดไม่ลุกลามจะไม่ใช่เซลล์ผิดปกติที่คุณต้องรับการรักษาโดยเร่งด่วน แต่ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมชนิดไม่ลุกลามก็จำเป็นต้องให้แพทย์ช่วยประเมิน และพิจารณาตัวเลือกการรักษาที่เหมาะสมให้ โดยการรักษาที่แพทย์แนะนำอาจจะเป็นการตัดเต้านมออกเพียงบางส่วน  หรือที่เรียกว่าการผ่าตัดแบบสงวนเต้านม ผู้ป่วยบางรายอาจจำเป็นต้องรับการผ่าตัดร่วมกับการรักษาด้วยการใช้รังสี หรือการผ่าตัดอื่นๆ เพื่อกำจัดเซลล์ที่ผิดปกติทั้งหมดออกไป บางรายอาจจำเป็นต้องใช้วิธีการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดเป็นตัวเลือกในการรักษาอีกด้วย

อาการของมะเร็งเต้านมชนิดไม่ลุกลามมีอะไรบ้าง

โดยทั่วไปแล้วมะเร็งเต้านมชนิดไม่ลุกลามจะไม่มีสัญญานบ่งชี้ หรืออาการแสดงออก อย่างไรก็ดีต่อไปนี้เป็นสัญญาณต่างๆ ที่อาจพบได้ อาทิ

  • มีก้อนที่เต้านม
  • มีของเหลวสีแดง หรือมีเลือดปนออกจากหัวนม
  • ปกติแล้วมะเร็งเต้านมชนิดไม่ลุกลามจะปรากฎเป็นกลุ่มก้อนเล็กๆ ที่มีรูปร่างและขนาดที่ไม่แน่นอน และสามารถตรวจพบได้จากการตรวจแมมโมแกรม

เมื่อใดที่ควรไปพบแพทย์

หากพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงต่างๆ เกี่ยวกับเต้านม เช่น มีก้อนที่เต้านม มีบริเวณที่ผิวย่น หรือที่ไม่ปกติ คุณควรไปพบแพทย์ หากมีบริเวณใดของผิวหนังที่หนาตัวขึ้น หรือมีสารคัดหลั่งผิดปกติออกมาจากหัวนม แพทย์จะได้หาสาเหตุว่าเกิดขึ้นเพราะอะไร

แพทย์อาจแนะนำให้คุณทำการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม และบอกถึงความถี่ในการตรวจสอบ ผู้หญิงบางกลุ่มอาจได้รับคำแนะนำให้เริ่มไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมเป็นประจำเมื่ออายุเข้าสู่วัย 40 ปี โดยแพทย์จะแนะนำสิ่งที่เหมาะสมให้คุณได้

สาเหตุของมะเร็งเต้านมชนิดไม่ลุกลามมีอะไรบ้าง

ปัจจุบันยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าสาเหตุที่ทำให้เกิดมะเร็งเต้านมชนิดไม่ลุกลามมีอะไรบ้าง  ทั้งนี้ มะเร็งเต้านมชนิดไม่ลุกลามก่อตัวขึ้นเมื่อเกิดการกลายพันธุ์ด้านพันธุกรรมของเซลล์มะเร็งเต้านมในระดับ DNA การกลายพันธุ์ด้านพันธุกรรมนี้จะส่งผลให้มีการผลิตเซลล์ผิดปกติขึ้นมา ในกรณีนี้เซลล์ดังกล่าวจะไม่สามารถขยายตัวออกไปยังด้านนอกท่อน้ำนมได้ ทั้งนี้ สิ่งที่กระตุ้นให้เซลล์เติบโตเป็นเซลล์ผิดปกติยังไม่ทราบแน่ชัด โดยเหล่านักวิจัยระบุว่าเซลล์ปกติเหล่านี้เติบโตขึ้นกลายเป็นมะเร็งเต้านมชนิดไม่ลุกลาม ส่วนปัจจัยหลักต่างๆ ที่ทำให้เกิดมะเร็งเต้านมชนิดไม่ลุกลาม ได้แก่ สไตล์การใช้ชีวิต สิ่งแวดล้อม รวมทั้งกรรมพันธุ์

ปัจจัยเสี่ยงที่นำไปสู่การเกิดมะเร็งเต้านมชนิดไม่ลุกลามมีอะไรบ้าง

ปัจจัยที่นำไปสู่การเกิดมะเร็งเต้านมชนิดไม่ลุกลามนั้นมีหลายประการ แต่ปัจจัยหลักๆ รวมไปถึง:

  • วัยที่เพิ่มขึ้น อายุอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงที่นำไปสู่การเกิดมะเร็งเต้านมชนิดไม่ลุกลาม
  • เคยมีประวัติเป็นโรคของเต้านมที่ใช่มะเร็งมาก่อน เช่น ก้อนเนื้องอกที่มีเซลล์มะเร็งผิดปรกติ (Atypical Hyperplasia)
  • คนในครอบครัวมีประวัติเป็นมะเร็งเต้านม
  • ผู้ที่ไม่เคยตั้งครรภ์มาก่อน
  • ผู้ที่ตั้งครรภ์หลังอายุ 30 ปี
  • ผู้ที่มีประจำเดือนมาเร็วตั้งแต่ก่อนอายุ 12 ปี
  • ผู้ที่ประจำเดือนหมดช้า หลังอายุ 55 ปี

การกลายพันธุ์ด้านพันธุกรรมที่มาพร้อมกับความเสี่ยงของมะเร็งเต้านม เช่น มียีนมะเร็งเต้านม BRCA 1 และ BRCA 2  

แพทย์มีวิธีการวินิจฉัยมะเร็งเต้านมชนิดไม่ลุกลามอย่างไร

การตรวจแมมโมแกรมเพื่อคัดกรองมะเร็งเต้านม

มะเร็งเต้านมชนิดไม่ลุกลามมักตรวจพบได้จากการตรวจแมมโมแกรม ซึ่งนำมาใช้ในการคัดกรองมะเร็งเต้านม โดยรังสีแพทย์มักแนะนำให้มีการศึกษาภาพถ่ายรังสีวิทยาเกี่ยวกับเต้านมเพิ่มเติม หากผลการตรวจแมมโมแกรมแสดงให้เห็นถึงบริเวณที่น่าสงสัยเช่น มีหินปูนขนาดเล็กอยู่ในเต้านม (Microcalcification) ในลักษณะเป็นกลุ่มก้อน และมีรูปทรงและขนาดผิดปกติ

ในแง่ของการตรวจสอบเพิ่มเติม แพทย์อาจเลือกใช้การตรวจแมมโมแกรมเพื่อการวินิจฉัย เพื่อดูผลแบบขยายในมุมต่างๆ มากขึ้น การตรวจสอบนี้จะช่วยรังสีแพทย์ให้สามารถประเมินเต้านม รวมทั้งตรวจสอบหินปูนขนาดเล็กที่พบอยู่ในเต้านม เพื่อให้เข้าใจ และระบุว่าหินปูนขนาดเล็กเหล่านั้นน่ากังวลหรือไม่ หากบริเวณที่กังวลจำเป็นต้องได้รับการประเมินต่อไป แพทย์อาจเลือกทำอุลตราซาวด์ และการตัดชิ้นเนื้อจากเต้านมออกตรวจ

การเลือกตัดเนื้อออกตรวจ

ในกรณีที่รังสีแพทย์ หรือศัลยแพทย์เลือกการใช้เข็มเจาะตัดเนื้อเยื่อ (Core Needle Biopsy) ตัวอย่างเนื้อเยื่อที่ได้จากบริเวณที่น่าสงสัยของเต้านมจะถูกตัดออกมาโดยใช้เข็มที่มีตรงกลางกลวง ซึ่งในขั้นตอนนี้บางครั้งจะใช้อัลตร้าซาวน์ในการช่วยชี้ตำแหน่ง ซึ่งจะเรียกว่าการเจาะชิ้นเนื้อตรวจ โดยใช้อัลตราซาวน์ช่วยชี้นำ (Ultrasound-guided Breast Biopsy) ซึ่งอาจเป็นการเจาะชิ้นเนื้อเต้านมที่ใช้ภาพเอกซเรย์ในการช่วยชี้ตำแหน่ง จากนั้นแพทย์จะส่งตัวอย่างเนื้อเยื่อไปวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ

ในห้องปฏิบัติการ พยาธิแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการวิเคราะห์เลือดและเนื้อเยื่อจะทำการตรวจสอบตัวอย่างเนื้อเยื่อดังกล่าว การตรวจสอบตัวอย่างเนื้อเยื่อจะช่วยให้แพทย์บ่งชี้ตัวอย่างเนื้อเยื่อที่มีเซลล์ผิดปกติอยู่ หากพบว่ามีเซลล์ผิดปกติ แพทย์จะนำไปวิเคราะห์ต่อไปว่าเซลล์ดังกล่าวจะมีความรุนแรงในระดับใด

วิธีการรักษามะเร็งเต้านมชนิดไม่ลุกลามมีอะไรบ้าง

ในกรณีส่วนใหญ่การรักษามะเร็งเต้านมชนิดไม่ลุกลาม เช่นการตัดเนื้องอกออก และป้องกันไม่ให้กลับมาเป็นอีกถือเป็นวิธีที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมชนิดไม่ลุกลามส่วนใหญ่จะได้รับการแนะนำให้รับการรักษาดังต่อไปนี้:

การผ่าตัดเอาเฉพาะเนื้องอกออก (Lumpectomy) และการรักษาด้วยการใช้รังสี การผ่าตัดเอาเฉพาะเนื้องอกออก จะนำมาใช้เพื่อกำจัดมะเร็ง หรือเนื้อเยื่อที่ผิดปกติออกจากเต้านม วิธีการนี้ยังเรียกว่าเป็นการผ่าตัดเต้านมแบบสงวนเต้า โดยแพทย์อาจใช้การรักษาด้วยการใช้รังสีร่วมกับการผ่าตัดนี้

การตัดเต้านม (Mastectomy) การผ่าตัดเอาเต้านมออกมีจุดประสงค์เพื่อขจัดเนื้อเยื่อเต้านมออกไปทั้งหมด เพื่อเป็นการรักษา หรือป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยกลับมาเป็นโรคมะเร็งเต้านมซ้ำอีก

ในบางรายแพทย์อาจแนะนำให้

การผ่าตัดมะเร็งเต้านมชนิดไม่ลุกลามมีอะไรบ้าง

หากได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งเต้านมชนิดไม่ลุกลาม แพทย์จะให้คุณตัดสินใจว่าต้องการเลือกรักษาด้วยการผ่าตัดเอาเฉพาะเนื้องอกออก หรือการตัดเต้านม

การผ่าตัดเอาเฉพาะเนื้องอกออก หรือการผ่าตัดเต้านมแบบสงวนเต้านี้จะใช้เพื่อนำเนื้อเยื่อบริเวณที่เกิดมะเร็งเต้านมชนิดไม่ลุกลามออกไป โดยเนื้อเยื่อปกติที่อยู่รอบข้างก็จะถูกนำออกไปด้วย  หากเลือกวิธีนี้คุณอาจได้ยินแพทย์เรียกการผ่าตัดนี้ว่าการตัดชิ้นเนื้อไปตรวจ (Surgical Biopsy) หรือการผ่าตัดเป็นบริเวณกว้าง (Wide Local Incision) ในขั้นตอนนี้แพทย์จะรักษาเต้านมของคุณไว้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยปกติแล้วไม่จำเป็นจะต้องมีการผ่าตัดเสริมสร้างเต้านม (Breast Reconstruction) ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับปริมาณเนื้อเยื่อที่ถูกผ่าออกไป จากผลการวิจัย ผู้หญิงที่ได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัดเอาเฉพาะเนื้องอกออกจะมีความเสี่ยงในการกลับมาเป็นมะเร็งสูงกว่าผู้หญิงที่ได้รับการรักษาด้วยตัดเต้านมเล็กน้อย แม้ว่าจะมีการผ่าตัดที่แตกต่างกันสองแบบ แต่อัตราการรอดชีวิตของผู้ที่ได้รับการผ่าตัดทั้งสองแบบนั้นก็ไม่ได้แตกต่างกัน หากพบว่ามีภาวะร้ายแรงอื่นๆ แพทย์อาจพิจารณาเลือกใช้ทั้งการผ่าตัดเอาเฉพาะเนื้องอกออก ควบคู่กับการใช้ฮอร์โมนบำบัด ในผู้ป่วยบางรายอาจทำการผ่าตัดเอาเฉพาะเนื้องอกออกเพียงอย่างเดียว ขณะที่บางรายอาจไม่จำเป็นต้องรับการรักษาใดๆ เลย

  • การตัดเต้านม: การตัดเต้านมจะนำมาใช้เพื่อนำเนื้อเยื่อเต้านมออกไปทั้งหมด การผ่าตัดประเภทนี้ยังสามารถทำควบคู่ไปกับการผ่าตัดเสริมสร้างเต้านม หรือสามารถเลือกผ่าตัดเสริมสร้างเต้านมภายหลังขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้ป่วย

    ผู้หญิงส่วนใหญ่จะได้รับการแนะนำให้เลือกการผ่าตัดเอาเฉพาะเนื้องอกออก แต่ทั้งนี้แพทย์อาจแนะนำให้ใช้การตัดเต้านม ในกรณีที่

  • เกิดมะเร็งเต้านมชนิดไม่ลุกลามในบริเวณกว้าง: แพทย์อาจแนะนำให้ใช้การตัดเต้านมเพื่อรักษา หากมะเร็งเต้านมชนิดไม่ลุกลามมีขนาดใหญ่แทนที่จะใช้การผ่าตัดเอาเฉพาะเนื้องอกออก เนื่องจากการผ่าตัดเต้านมแบบสงวนเต้าอาจไม่ได้ผลในระดับที่ยอมรับได้ในกรณีนี้

  • มีมะเร็งเต้านมชนิดไม่ลุกลามเกิดมากกว่าหนึ่งจุด: หากมะเร็งเต้านมชนิดไม่ลุกลามเกิดขึ้นหลายบริเวณ การผ่าตัดเอาเฉพาะเนื้องอกออกอาจไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งสภาวะนี้จะเรียกกว่าเป็นโรคที่เกิดในหลายตำแหน่ง ในกรณีนี้การตัดเต้านมถือเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมที่สุดเมื่อพบมะเร็งเต้านมชนิดไม่ลุกลามในส่วน หรือบริเวณต่างๆ ของเต้านม

    ผลการตัดชิ้นเนื้อจากเต้านมออกตรวจบ่งชี้ว่ามีเซลล์ผิดปกติอยู่บริเวณขอบของเนื้อเยื่อตัวอย่าง หรืออยู่ใกล้ขอบของเนื้อเยื่อตัวอย่าง ในกรณีนี้ หากคุณมีมะเร็งเต้านมชนิดไม่ลุกลามมากกว่าที่เดิมที่คาดไว้  การผ่าตัดเอาเฉพาะเนื้องอกออกอาจไม่เพียงพอในการกำจัดมะเร็ง จึงจำเป็นต้องใช้การตัดเต้านมเพื่อกำจัดเนื้อเยื้อทั้งหมดหากบริเวณที่เป็นนั้นมีขนาดใหญ่ครอบคลุมขนาดของเต้านม

  • การรักษาด้วยการใช้รังสีไม่เหมาะกับคุณ: กรณีที่คุณได้รับการวินิจัยแล้วว่าอยู่ในช่วงตั้งครรภ์ในไตรมาสแรก การรักษาด้วยการใช้รังสีอาจไม่เหมาะกับคุณ แพทย์จะแนะนำให้รักษาด้วยใช้การตัดเต้านม อีกกรณีหนึ่งก็คือหากก่อนหน้านี้คุณเคยได้รับการฉายรังสีบริเวณเต้านม หรือหน้าอก หรือมีภาวะใดๆ ก็ตามที่ทำให้เกิดผลข้างเคียงจากการรักษาด้วยการใช้รังสี เช่น โรคภาวะแพ้ภูมิตัวเอง (Systemic Lupus Erythematosus: SLE) แพทย์จะแนะนำให้คุณเลือกการรักษาด้วยการตัดเต้านม

  • คุณเลือกรับการรักษาด้วยการตัดเต้านม: ในกรณีนี้คุณอาจไม่จำเป็นต้องใช้การผ่าตัดเอาเฉพาะเนื้องอกออกจากการที่คุณอาจไวต่อผลข้างเคียงของการรักษาด้วยการใช้รังสี คุณอาจขอให้แพทย์ใช้การตัดเต้านม นอกจากนี้ การผ่าต่อมน้ำเหลืองออกจากใต้แขนก็ไม่จำเป็น เนื่องจากเป็นระยะก่อนลุกลาม และมีโอกาสที่จะพบว่าต่อมน้ำเหลืองมีความบางมาก อย่างไรก็ดีแพทย์อาจเลือกการผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองเซ็นติเนล (Sentinel Node Biopsy) หรือการผ่าต่อมน้ำเหลืองบางส่วนออกไป หากพิจารณาแล้วว่าเซลล์ที่ผิดปกติที่เกิดขึ้นในช่วงการผ่าตัดมีการขยายตัวออกไปนอกท่อน้ำนม และหากคุณกำลังจะรับการรักษาด้วยการตัดเต้านม แพทย์ก็จะดำเนินการตัดเต้านมให้ในการไปพบครั้งต่อๆ ไป

การรักษาด้วยการใช้รังสี

การรักษาด้วยการใช้รังสี เป็นการใช้รังสีที่มีพลังงานสูง รวมไปถึงรังสีเอกซ์ หรือโปรตรอนเพื่อกำจัดเซลล์ที่ผิดปกติ การรักษาหลังการผ่าตัดเอาเฉพาะเนื้องอกออก จะช่วยป้องกันไม่ให้มะเร็งเต้านมชนิดไม่ลุกลามกลับมาเกิดซ้ำอีกได้ ซึ่งหากเกิดซ้ำอาจพัฒนากลายเป็นมะเร็งเต้านมชนิดลุกลามได้

ปกติแล้วการใช้รังสีเป็นตัวเลือกการรักษาอย่างหนึ่งหลังการผ่าตัดเอาเฉพาะเนื้องอกออก ทั้งนี้ก็อาจไม่จำเป็นต้องใช้การรักษาด้วยการใช้รังสีหากมะเร็งเต้านมชนิดไม่ลุกลามของคุณเกิดในบริเวณเล็กๆ ของเต้านมที่พิจารณาแล้วว่าเป็นมะเร็งระดับต่ำ (Low Grade) และถูกกำจัดออกไปได้ด้วยการผ่าตัด

การรักษาด้วยฮอร์โมนบำบัด

การรักษาด้วยฮอร์โมนบำบัดจะช่วยปิดกั้นไม่ให้ฮอร์โมนไปถึงเซลล์มะเร็ง การรักษาด้วยวิธีการนี้จะมีประสิทธิภาพเฉพาะเมื่อเซลล์เติบโตโดยตอบสนองกับฮอร์โมน หรือที่เรียกว่าเป็นมะเร็งเต้านมชนิดที่มีตัวรับฮอร์โมน ทั้งนี้ การรักษาด้วยฮอร์โมนบำบัดเองไม่ใช่การรักษามะเร็งเต้านมชนิดไม่ลุกลามในตัวมันเอง แต่สามารถใช้รักษาเพิ่มเติมได้หลังการผ่าตัด หรือการฉายรังสีเพื่อป้องกันไม่ให้มะเร็งเต้านมชนิดไม่ลุกลามกลับมาเกิดซ้ำ หรือป้องกันการเกิดมะเร็งเต้านมชนิดลุกลาม

การเตรียมตัวไปพบแพทย์

ก่อนไปพบแพทย์ คุณควรเตรียมข้อมูลเกี่ยวกับอาการของคุณ การใช้ยารักษาทั้งหมด รวมทั้งรวบรวมคำถามต่างๆ ที่ต้องการถามคุณหมอ

สิ่งที่คุณจะต้องเจอเมื่อพบแพทย์

คุณอาจถูกถามคำถามต่างๆ เช่น เริ่มมีอาการเมื่อใด อาการหนักแค่ไหน หรือมีคนในครอบครัวเคยมีประวัติเป็นโรคนี้หรือมาก่อนหรือไม่

ประวัติเจ้าของบทความ

วุฒิพงษ์ มาลา เป็นนักแปลอาชีพสายกฎหมายและการแพทย์ และยังมีความเชี่ยวชาญด้านการแปลในสาขาการวิจัยตลาด ธุรกิจประชาสัมพันธ์อีกด้วย วุฒิพงษ์จบการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาภาษาอังกฤษ และปริญญาตรีใบที่ 2 สาขาภาษาจีน  ผ่านการอบรมการแปลของชมรมนักแปลและล่ามอาชีพ (Professional Translators and Interpreters Society) หลักสูตรการแปลเอกสารภาษาอังกฤษเป็นไทย รุ่นที่ 1: (Intermediate Level - คู่ภาษาอังกฤษ - ไทย) ปัจจุบันเป็นนักแปลอาวุโสประจำบริษัทวิจัยตลาดชั้นนำแห่งหนึ่ง  

15/06/2021
บทความที่เกี่ยวข้อง
CHECKSUKKAPHAP.COM
เลขที่ 598 ชั้น 6 ถนนเพลินจิต ลุมพินี ปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330
095-515-9229
ข้อกำหนดและเงื่อนไข ความเป็นส่วนตัว